ถ้ายังจำกันได้ สิ่งที่เป็นไฮไลท์ในงานสถาปนิก’61 สามารถตรึงใจผู้คนที่มาเยี่ยมชมงานให้รู้สึกตื่นตามากที่สุด ต้องยกให้กับผลงานการออกแบบพาวิลเลียนทั้งหมด 18 พาวินเลียน ของกลุ่มสถาปนิกชั้นนำทั้งหลายของไทย
โดยทุกพาวิลเลียน ต่างต้องลับคมไอเดียกันด้วยการตีความแนวคิด ‘Verancular Living’ ภายใต้หัวข้อ ‘Beyond Ordinary’ ที่สะท้อนถึง ‘งานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในวิถีชีวิตร่วมสมัยที่ไม่ธรรมดา’ ผ่านการเลือกใช้วัสดุอันแสนจะธรรมดาอย่าง ดิน อิฐ ไม้ และไม้ไผ่ แถมปัจจุบันยังมีหลากหลายผลงานที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อ สะท้อนถึงความยั่งยืนของงานดีไซน์อันสอดคล้องกับการจัดงานสถาปนิกปี 62 ที่ชูโรงมาในแนวคิด ‘กรีน อยู่ ดี : Living Green’ ดังนั้นเราจะพาย้อนไปทวนความจำ พร้อมทำความรู้จักกับ 3 ใน 18 พาวินเลียน ที่เวลานี้ถูกนำไปจัดแสดงไว้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ อีกครั้งจนถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ (เป็นส่วนหนึ่งของงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018) และพอสิ้นสุดการจัดแสดง งานไหนที่ยังไม่มีกำหนดรื้อถอนก็จะเดินทางไปจัดแสดงยังสถานที่อื่นๆต่อไป
Moving System Pavilion (ศาลาพาจร)
ถือเป็น 1 ใน 5 พาวิลเลียนหลักของงานสถาปนิกที่มีความโดดเด่นไม่เบา ผลงานชิ้นนี้เป็นการนำเอาข้อต่อไม้ของเล่นโบราณชื่อ ‘เถรอดเพล’ (เถน-อด-เพ) มาประยุกต์เป็นโครงสร้างพาวิลเลียนที่ไร้ซึ่งการยึดด้วยตะปู แต่ใช้เทคนิคการสอดขัดกันของไม้ที่บากไว้จำนวน 6 ท่อน ให้เกิดเป็นข้อต่อ 3 แกน (แกนละ 2 ท่อน) ในลักษณะกากบาท ซึ่งสามารถนำมาต่อ ยืดขยาย และปรับรูปทรงเป็นศาลาโครงโปร่งที่สามารถถอดประกอบได้สะดวก ง่ายต่อการขนย้ายไปติดตั้งใหม่ทีเดียว
ผู้ออกแบบ : วีระ อินพันทัง นักวิจัย สถาปนิก อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาตร์ ม.ศิลปากร (ซึ่งคนในแวดวงสถาปัตย์ยกให้เป็น ‘เสาเอกแห่งวงการสถาปัตย์พื้นถิ่น’) และ พิช โปษยานนท์ อาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาตร์ ม.ศิลปากร และ ม.เกษตรศาสตร์
Vexed + Voided
พาวิลเลียนสร้างขึ้นสำหรับเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานประกวดออกแบบนานาชาติประจำปี 2018 ภายใต้หัวข้อ VEX : Agitated Vernacular ที่ได้นำวัสดุไม้มาผ่านกระบวนการแปลงโฉมใหม่ ทั้งลอกเปลือก ขัดสีให้ขาวนวล และเผาไฟให้ดำ ก่อนนำมาประกอบร่างโดยผูกยึด ซ้อนตั้ง และตัดคว้านให้เป็นโครงสร้างทรงลูกบาศก์สีดำ สะท้อนให้เห็นถึงงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแบบใหม่ที่ตอบสนองโลกปัจจุบันได้อย่างสร้างสรรค์
ผู้ออกแบบ : บี วิทยถาวรวงศ์ สถาปนิกที่มีประสบการณ์การทำงานทั้งในไทยและอเมริกา ผู้ก่อตั้ง Beautbureau สตูดิโอออกแบบที่เน้นการค้นคว้าวิจัย เพื่อนำความเชี่ยวชาญมาตอบโจทย์ความหลากหลายของผลงาน อาทิเช่น งานด้านสถาปัตยกรรม ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงศิลปะการจัดวาง
LIGATURE
พาวิลเลียนที่นำวัสดุไม้ไผ่มาถ่ายทอดให้ดูแปลกตาไปจากรูปแบบดั้งเดิม เผยรูปทรงร่วมสมัยที่ปูมหลังคือการออกแบบผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ผสานกับวิธีการขึ้นงานแบบวิถีชาวบ้าน ภายใต้ทัศนคติการทำงานที่เป็นการลองผิดลองถูก ไร้ข้อกำหนดตายตัว จนได้งานที่มีประสิทธิภาพ เกิดเป็นความงดงามที่คาดเดาไม่ถึง ทว่ายังคงสะท้อนความเป็นงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ที่มีความเป็นระบบระเบียบอยู่นั่นเอง
ผู้ออกแบบ : ศาวินี บูรณศิลปิน และ Tom Dannecker สองนักออกแบบผู้ร่วมก่อตั้ง Thingsmatter ที่มีผลงานทั้งทางด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม และรูปแบบนิทรรศการ แถมทั้งคู่ยังเป็นผู้ร่วมสอน บรรยาย และจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการให้กับหลายสถาบันการศึกษาในกรุงเทพฯ รวมถึงเคยเข้าร่วมบรรยายในหลักสูตรสถาปัตยกรรมมหาบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
ภาพ: Jukkrit H./BACC