อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เจ้าของอาคารโดยเฉพาะเจ้าของที่อยู่อาศัยขนาดเล็กอาจมองข้ามไปคือการคำนึงถึงวัสดุที่ใช้ในงานก่อสร้าง เพื่อให้บ้านหนึ่งหลังตอบโจทย์ความหมายของ “อาคารสีเขียว” ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าการมุ่งประเด็นไปที่การประหยัดพลังงานเพียงอย่างเดียว วันนี้ทีมงานได้รับเกียรติจาก รศ. ดร. อรรจน์ เศรษฐบุตร อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดคุยถึงแนวคิด และนิทรรศการนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อม (Innovative Green Products) ที่จะเกิดขึ้นในงานสถาปนิก ’62 ภายใต้แนวคิด “กรีน อยู่ ดี : Living Green”
4 ระดับการรับรู้เรื่องวัสดุก่อสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อม
เพื่อให้เข้าใจบริบทของวัสดุก่อสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างง่าย ๆ อาจารย์อรรจน์แบ่งการรับรู้ของผู้ใช้ในเรื่องวัสดุก่อสร้างออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้ 1) มุมมองแรก เริ่มจากผู้ใช้ที่มองหาวัสดุก่อสร้างที่ผลิตจากธรรมชาติ ย่อยสลายง่าย ไม่มีสารตกค้างต่อสิ่งแวดล้อม 2) เป็นวัสดุที่ไม่มีสารพิษที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับสุขภาพของผู้ใช้ เช่น การเลือกใช้สีทาอาคาร หรือการเลือกใช้กาวที่ไม่มีสารฟอร์มาลดีไฮด์ สารตะกั่วที่ส่งผลลบต่อสุขภาพโดยตรง 3) วัสดุเหล่านั้นสามารถรีไซเคิลได้หรือไม่ 4) การมองวัสดุในเชิง Life Cycle ทั้งระบบ เช่น กระบวนการผลิตวัสดุส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องปริมาณการใช้พลังงานในการผลิต ปริมาณการปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ฯลฯ ยกตัวอย่างเช่น วัสดุเหล็กก็ถือว่าเป็นวัสดุที่กรีนในระดับหนึ่ง เพราะแม้ว่าจะใช้พลังงานในการผลิตสูง แต่เหล็กสามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้อีก เทียบกับคอนกรีตที่รีไซเคิลได้ยากมาก เป็นต้น
ทั้งนี้ เราสามารถแบ่งวัสดุก่อสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อมออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1) Reuse หมายถึงการนำวัสดุก่อสร้างเดิมมาปรับรูปแบบการใช้ใหม่ เช่น การนำประตูไม้เก่ามาปรับเป็นโต๊ะทำงาน อาจมีการตัดแต่งเล็กน้อยตามประโยชน์ใช้สอยที่เหมาะสม 2) Recycle การนำชิ้นส่วนวัสดุก่อสร้างกลับไปย่อยสลายที่โรงงานจากนั้นผ่านกระบวนการผลิตให้เป็นวัสดุก่อสร้างชิ้นใหม่ 3) Recyclable คือการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของวัสดุในอีก 20 หรือ 50 ปีข้างหน้าว่า วัสดุเหล่านั้นเป็นภาระต่อการนำกลับไปทำอะไรใหม่อีกหรือไม่ ทั้งนี้วัสดุในกลุ่มนี้ ไม่ได้ตีกรอบไว้เพียงแค่ ไม้ เหล็ก หรือกระจก ที่เราคุ้นตาเท่านั้น แต่อาจเป็นโพลีเมอร์บางชนิดที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ด้วย ดังนั้นหัวใจหลักของการ Recyclable คือ การสร้างวัสดุหนึ่งชิ้นที่ไม่จบชีวิตด้วยการเป็นขยะล้นโลกเหมือนเช่น พลาสติก หรือ โฟม ที่ยากต่อการทำลาย นอกจากนี้ วัสดุก่อสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อมอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจคือ วัสดุพื้นถิ่น (Regional Material) เนื่องจากเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่ ไม่ต้องควานหาวัสดุจากจีน ยุโรป อเมริกา ฯลฯ ช่วยลดพลังงาน และระยะเวลาจากกระบวนการขนส่ง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมวัสดุพื้นถิ่นในทางอ้อมด้วย
อาคารกรีนเสริมภาพลักษณ์รักษ์สิ่งแวดล้อม
ภาวะโลกร้อนถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ ดังจะเห็นได้จากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ซีโอพี 21 (COP21) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2558 ที่ต้องการให้ทุกประเทศเห็นชอบร่างข้อตกลงว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงการประชุมผู้นำข้อตกลงโลกร้อนปารีสเมื่อปลายปี พ.ศ. 2560 สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบให้ทางภาครัฐจำเป็นต้องออกนโยบายเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกำแพงภาษีพร้อมผลักดันให้องค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชนหันมาสร้างอาคารสีเขียวมากขึ้น เช่น มาตรการควบคุมอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงมีแบบประเมินอาคารสีเขียว เช่น LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) แบบประเมินอาคารจากหน่วยงานในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ BREEAM (Building Research Establishment’s Environmental Assessment Method) แบบประเมินอาคารจากประเทศอังกฤษ ทำหน้าที่ตรวจสอบพร้อมให้ “ดาวเงิน ดาวทอง หรือดาวแพลทินัม” แก่อาคารที่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์การให้คะแนน โดย Material and Resources หรือวัสดุก่อสร้างอาคารที่มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็เป็นหนึ่งหัวข้อหลักต่อการประเมินอาคารด้วย ผลลัพธ์ที่ได้นอกจากจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวอาคาร และองค์กรแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมด้วย
นิทรรศการนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อมในงานสถาปนิก ‘62
พื้นที่จัดแสดงจะมีการนำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างที่แตกต่างจากบูธจัดแสดงภายในงานเพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสนวัตกรรมใหม่ ๆ บางชิ้นงานยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาแต่เป็นวัสดุก่อสร้างที่มีศักยภาพสูง ตัวอย่างวัสดุก่อสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อมที่นำมาจัดแสดงภายในพื้นที่ เช่น ฉนวนกันความร้อนที่แสงผ่านได้ (Aerogel) เป็นวัสดุที่มีโครงสร้างเป็นรูพรุนกึ่งโปร่งแสง น้ำหนักเบามาก และถูกใช้ในยานอวกาศมาก่อน Aerogel ถือว่าเป็นฉนวนกันความร้อนภายในอาคารที่ดีที่สุด หรือ Smart Window กระจกที่มีการปรับสีตามอุณหภูมิความร้อนภายนอก เพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารไม่ให้ได้รับความร้อนมากเกินไป เป็นต้น
ก่อนจากกัน อาจารย์อรรจน์กล่าวทิ้งท้ายถึงงานสถาปนิก ’62 ภายใต้แนวคิด “กรีน อยู่ ดี : Living Green” ว่า การออกแบบพื้นที่ อาคาร วัสดุ ฯลฯ ที่ส่งเสริมให้ผู้คนใช้ชีวิตแบบกรีนได้ง่าย เช่น ถ้าเราต้องการกระตุ้นให้คนเมืองหันมาขี่รถจักรยาน เราก็ควรออกแบบเส้นทางการสัญจรบนท้องถนนที่เอื้ออำนวยให้กับการขี่จักรยานมีความปลอดภัย รวมไปถึงการจัดเตรียมพื้นที่ภายในอาคาร ห้างสรรพสินค้า บ้าน ฯลฯ เพื่อรองรับรูปแบบการใช้งานด้วย เช่น จุดจอดรถจักรยานโดยเฉพาะ ทางลาดที่เหมาะสม ห้องอาบน้ำในที่ทำงาน เป็นต้น หรือการออกแบบห้องพักในคอนโดมิเนียมที่เอื้ออำนวยให้ผู้พักอาศัยลดการใช้เครื่องปรับอากาศ โดยออกแบบให้ระบบถ่ายเทอากาศภายในห้องพักสอดคล้องกับทิศทางลม เป็นต้น นั่นหมายถึงทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราควรถูก “ออกแบบ” เพื่อส่งเสริมพร้อมกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงวิถีการดำเนินชีวิตที่กรีนได้ง่าย และยั่งยืนด้วย อีกหนึ่งนิทรรศการที่ตอกย้ำถึงความสำคัญของนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อม (Innovation Green Product) ที่คุณสามารถเรียนรู้ผ่านงานสถาปนิก ’62 ภายใต้แนวคิด “กรีน อยู่ ดี : Living Green” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2562 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1 – 3 ศูนย์แสดงสินค้า และการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี