แม้จะฟังดูเป็นคอนเซ็ปต์ร่วมสมัย แต่เชื่อหรือไม่ว่าคนไทยนั้นมีภูมิปัญญาเรื่องการอยู่อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมานานแล้ว แต่แน่นอนว่า "วีถี" ของแต่ละท้องถิ่นก็แตกต่างกันออกไป โดยขึ้นอยู่กับทั้งสภาพภูมิประเทศและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น และนี่คือตัวแทนของสถาปนิกของทั้ง 3 ภูมิภาคที่จะมาบอกเล่าถึง "หนทาง" และ "แนวทาง" ที่จะ "กรีน อยู่ ดี" ซึ่งเป็นธีมของงานสถาปนิก'62 ในปีนี้
ภาคเหนือ
"นิยามของ Green Living คือการใช้ชีวิตโดยเน้นการดูแลสิ่งแวดล้อม ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี ทั้งการเลือกกินที่พอดี ไม่เหลือทิ้ง เลือกทานอาหารท้องถิ่นที่ไม่ต้องใช้การขนส่งไกลๆ หรือการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่มีขนาดเล็กและประหยัดพลังงาน อาหารการกินของคนภาคเหนือมีความเรียบง่าย ใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นเป็นหลัก และงานวิจัยชี้ว่าคนภาคเหนือมีความภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น และมีแนวโน้มที่จะบริโภคอาหารที่มาจากท้องถิ่นเป็นหลัก อย่างเช่นกาแฟ เป็นต้น ความเป็น Green Living จึงเป็นการบริโภคส่ิงที่อยู่ใกล้ตัว สิ่งที่มีในท้องถิ่น เป็นความกรีนในตัวของมันเอง"
ภาคอีสาน
"ถ้าคำว่า Green คือแนวคิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ทั้งสองอย่างเกี่ยวข้องกันแน่นอน คนภาคอีสานในอดีตก็อยู่กับธรรมชาติ มีภูมิปัญญาท้องถิ่น ขนบธรรมเนียมอันดีงามที่จะอยู่กับธรรมชาติและเคารพธรรมชาติด้วย ส่วนในปัจจุบันนี้ขนบธรรมเนียมดั้งเดิมก็ยังมีอยู่บ้าง แต่อาจจะมีการปรับใช้ รูปแบบภายนอกอาจจะเปลี่ยนไป แต่จิตสำนึกในการเคารพธรรมชาติต้องมั่นคง"
ภาคใต้
"คนที่นี่อาจจะไม่ได้มีความเป็นกรีนที่ชัด แต่เป็นวิถีชีวิตของเขาอยู่แล้ว คนที่นี่กินผักเป็นหลัก นี่คือวิถีที่ต่อเนื่องมาจากอดีตที่ยังเป็นอยู่ ส่วนถ้าเป็นเรื่องสถาปัตยกรรม คนสมัยก่อนชีวิตต้องอาศัยธรรมชาติหมด ภาคใต้นี้จะมีทั้งคนที่อยู่ริมทะเลและอยู่ริมแม่น้ำ อีกกลุ่มหนึ่งอยู่ในป่าในเขา ทุกอย่างต้องอิงธรรมชาติเป็นหลัก มีอะไรใกล้ตัวก็หยิบมาใช้ สมัยนี้วิถีชีวิตอาจจะห่างไกลจากธรรมชาติมากกว่าเดิม แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนเดิมคือคนที่นี่รักต้นไม้ ไม่ว่าจะมีพื้นที่หรือไม่ ทุกบ้านจะปลูกไม้ประดับ เราจะรู้สึกว่าบ้านแห้งแล้งเกินไปถ้าไม่มีต้นไม้"
พบกับนิทรรศการภูมิปัญญาจาก 3 ภูมิภาค ได้ในงานสถาปนิก'62 "กรีน อยู่ ดี: Living Green" วันที่ 30 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2562 ที่อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี