top of page

พระปรางค์วัดอรุณฯ กรณีศึกษาเรื่องการวิพากษ์เรื่องมรดกบนโลกออนไลน์


“ด้านฝีมือไม่ได้เลย ทำให้เปลี่ยนจากของเดิมจนไม่สวย ทำให้คุณค่าด้านความงามของศิลปะสูญเสียมากมาย” - ศจ. สายันต์ ไพรชาญจิตร์ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย

“ปูนเมื่อตากแดด ตากฝน ก็มีรา มีตะไคร่น้ำจับเป็นเรื่องธรรมดาและพวกเชื้อราที่เกิดขึ้น ไม่ได้กระทบถึงโครงสร้าง เพราะเกาะอยู่ผิวภายนอกของพระปรางค์ กรณีที่ตกเป็นกระแสในโลกโซเชียล มองในมุมดีถือว่าเป็นการจุดประกายแนวความคิดให้คนมาสนใจว่าของดั้งเดิมเป็นอย่างไร” - พระมหาบุญรุ่ง สิริโชติ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณฯ ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐออนไลน์

“ที่เห็นพระปรางค์เป็นสีขาวไม่ใช่เกิดจากการทาสี แต่เกิดจากการขัดล้างทำความสะอาดคราบตะไคร่น้ำ และการทาสีน้ำปูน หรือ ‘การขัดปูนตำ’ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้บูรณะวัตถุสถานทุกวัด ซึ่งพอวัดใหญ่ๆ ที่ขัดปูนตำเสร็จใหม่ๆ ก็มักจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ลักษณะนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก วัตถุสถานโดนฝน โดนลมแล้วก็จะกลับมาเป็นสีดำ” - ศศิวิมล สุขสวัสดิ์ นักโบราณคดี จากบริษัท ปรียะกิจ จำกัด บริษัทที่รับหน้าที่จากกรมศิลปากรในการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ ให้สัมภาษณ์กับ The Standard

“แนวทางในการบูรณะ กรมศิลปากรยึดมั่นในหลักการตามสากล กล่าวคือ รักษารูปแบบ ฝีมือช่างและวัสดุ เพื่อรักษาหลักฐานตามประวิติศาสตร์ที่มีการบูรณะซ่อมแซม องค์พระปรางค์ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ ถึงปัจจุบัน สิ่งที่ชำรุดก็ได้จัดทำขึ้นใหม่ โดยเลียนแบบของเดิมพร้อมกับมีการบันทึกหลักฐานของงานศิลปกรรม สถาปัตยกรรมไว้ทั้งก่อนการดำเนินการ ระหว่างการดำเนินการ และหลังดำเนินการ” - ข้อชี้แจงของกรมศิลปากร เรื่องการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณราชวรมหาวิหาร

 

คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าหนึ่งในข่าวคราวในวงการการบูรณะโบราณสถานที่ครึกโครมที่สุดในทศวรรษนี้ คงหนีไม่พ้นกรณีการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม หนึ่งในสัญลักษณ์ของไทยในสายตาชาวโลก ที่แม้จะใช้เวลายาวนานถึง 5 ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2556-2560 แต่ผลที่ออกมากลับทำให้สังคมต้องช็อคกับความขาวโพลน และทำให้เกิดการตั้งคำถามอย่างเผ็ดร้อนบนโลกออนไลน์ว่างานนี้เป็นการรักษาหรือทำลายโบราณสถานอันทรงคุณค่ากันแน่? จนกระทั่งมีการสร้างแคมเปญรณรงค์ทาง change.org ถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ระงับการบูรณะและตั้งกรรมการขึ้นตรวจสอบ จนในที่สุดกรมศิลปากรที่รับผิดชอบโครงการบูรณะนี้ต้องออกแถลงการณ์มาเป็นลายลักษณ์อักษร

แม้ปัจจุบัน เรื่องการเรียกร้องจะผ่านไปสองปีแล้ว แต่กรณีของพระปรางค์วัดอรุณก็ยังเป็นกรณีศึกษาสุดคลาสสิกที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อเป็นเรื่องการอนุรักษ์หรือซ่อมแซมโบราณสถาน เห็นได้ชัดว่าอย่างน้อยที่สุด กรณีนี้ก็ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ต้องกลับมาคิดใคร่ครวญให้ถี่ถ้วนยิ่งขึ้นก่อนที่จะลงมือทำ เพราะเมื่อได้ชื่อว่าเป็นสมบัติของส่วนรวมแล้ว ผลกระทบที่ตามมามักจะยิ่งใหญ่กว่าที่คาดไว้เสมอ และความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องเรื่องหนึ่งก็อาจจะหลากหลายแตกต่างกันไป

พบกับเรื่องราวของประเด็นร้อนเกี่ยวกับมรดกสถาปัตยกรรมและการอนุรักษ์ที่ถูกวิพากษ์อย่างกว้างขวางบนโลกโซเชียลได้ในนิทรรศการไฮไลต์ งานสถาปนิก'63 "มองเก่า ให้ใหม่: Refocus Heritage" ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 เมษายน - 3 พฤษภาคม 2563 ที่อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ 1-3 เมืองทองธานี

bottom of page