top of page

กฎแห่งงานดีไซน์เพื่อส่วนรวม โดย ดลพร ชนะชัย และ นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย จาก Cloud-Floor


แนวคิดออกแบบ Custom Thainess Pavilion ในงานสถาปนิก’61

ด้วยความเชื่อที่ว่า “เพราะสุดท้ายแล้วสถาปนิกทำงานให้กับมนุษย์…จึงต้องเข้าใจมนุษย์ให้มากที่สุด” สถาปนิกทั้งสองมีมุมมองต่องานสถาปัตยกรรมว่าคือโครงสร้างที่รองรับความเป็นอยู่ของมนุษย์ ดังนั้นในกระบวนการออกแบบจึงต้องทำความเข้าใจมนุษย์ให้ลึกซึ้งก่อนเป็นอันดับแรก ดังเช่นในการออกแบบเนื้อหาพาวิเลียน Custom Thainess ที่งานสถาปนิก’61 ดลพรและนัฐพงษ์ได้นำเรื่องราวจากข้าวของเครื่องใช้และอุปกรณ์คุ้นตาในชีวิตประจำวันของคนไทย มาต่อยอดดัดแปลงเป็นสตรีทเฟอร์นิเจอร์ เพื่อสื่อสารถึงความ ‘ไม่ธรรมดา’ ในบริบทชีวิตแบบไทยๆ เช่น การนั่งๆ นอนๆ ใต้ถุนบ้าน, พื้นที่ ร่วมทำงานริมถนน, การพูดคุยอัพเดตข่าวสารในพื้นที่สังคม หรือแม้แต่วิธีการเคลื่อนที่อย่างอิสระของคนในเมือง ฯลฯ

ประเด็นเหล่านี้ได้ถูกนำมาตีความใหม่ และเล่าผ่านเรื่องราวของการออกแบบฟอร์นิเจอร์ที่ผู้ชมจะพบเห็นได้ในบริเวณนิทรรศการ Custom Thainess

รถเข็นโต๊ะทำงาน

เก้าอี้เหล็กดัด

เก้าอี้เบาะมอเตอร์ไซต์

จุดเริ่มต้นของ Cloud-floor

Cloud-floor คือกลุ่มสถาปนิกรุ่นใหม่ที่ก่อตั้งโดย นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย และ ดลพร ชนะชัย สองสถาปนิกที่มีความสนใจด้านการออกแบบเมืองและพื้นที่สาธารณะ ผลงานของพวกเขาเกิดจากการนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาเป็นแกนหลักในการพัฒนา ‘ดีไซน์เพื่อส่วนรวม’ โดยมีพื้นฐานจากการเก็บข้อมูลเชิงลึก การสังเกตและศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ รวมทั้งการผสานแนวคิดจากผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพ เพื่อนำเสนอประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ให้พื้นที่หนึ่งๆ สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ได้อย่างครบถ้วน และสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้ได้อย่างสูงสุด

การแลกเปลี่ยนก่อเกิดผลงานสร้างสรรค์

ดลพรและนัฐพงษ์ต่างเชื่อว่าในงานออกแบบเพื่อสาธารณชนนั้น การแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้คนที่หลากหลายถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะประสบการณ์หรือเรื่องราวที่คนแต่ละกลุ่มจะมอบให้นั้น ย่อมมาจากต่างมุมคิด หลายมุมมอง หลากค่านิยม ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าล้วนส่งผลต่อการออกแบบ ผลลัพธ์ที่เปิดกว้าง สร้างสรรค์ และครบมิติยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในโครงการทดลองสร้างพื้นที่สาธารณะชั่วคราว ‘Public Transit Lounge’ บริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง (เพื่อให้ผู้มารอขึ้นรถไฟและไม่ได้รอขึ้นรถไฟได้อาศัยนั่งพัก)

ในขั้นตอนการเก็บข้อมูล ทั้งดลพรและนัฐพงษ์พบว่า หากสถาปนิกพูดคุยแต่กับคนในแวดวงเดียวกัน ก็จะมองเห็นแต่ประเด็นเรื่อง ‘กายภาพ’ ของพื้นที่ แต่ในทันทีที่พวกเขาเปิดกว้างรับฟังความเห็นจากคนในวิชาชีพอื่น เช่น นักรัฐศาสตร์สังคม จะได้รับมุมมองใหม่ๆ ในเรื่อง ‘สิทธิเสรีภาพ’ ของมนุษย์ ซึ่งทำให้การออกแบบโซลูชั่นสุดท้ายไม่ได้เป็นเพียงการแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่ หากแต่ได้หลอมรวมเอาเงื่อนไขเชิงสังคมที่คำนึงถึงเสรีภาพในการใช้งานของผู้คนเข้าไปด้วย

ร่วมกันค้นหาความหมายของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในวิถีชีวิตร่วมสมัยได้ในงานสถาปนิก’61 วันที่ 1-6 พ.ค.61 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

 

bottom of page