หากพูดถึงปัญหาอย่างหนึ่งที่ชาวไทยเผชิญกันในตอนนี้คงหนีไม่พ้นปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ทำให้กรุงเทพและหลายจังหวัดทั่วประเทศไทยแทบจะกลายเป็นเมืองในหมอก นอกจากการการป้องกันที่ทราบกันดีคือสวมหน้ากากอนามัย ที่สามารถป้องกันฝุ่นขนาดเล็กได้ วันนี้เราได้มีโอกาสได้พูดคุยถึงปัญหานี้กับหมอบ้าน ASA 2020 พ.ต.ท.ปริญญา เจริญบัณฑิต เพื่อให้ได้เห็นถึงการป้องกันปัญหานี้อีกด้านหนึ่ง คือด้านที่อยู่อาศัย เราจะมาหาคำตอบกันว่าเรามีวิธีการปรับตัว และแนวทางการปรับปรุงก่อสร้างอย่างไรเพื่อป้องกันปัญหามลภาวะนี้ได้
“ฝุ่น PM2.5 นั้น มีขนาดเล็กมาก และฟุ้งอยู่ในอากาศรอบตัวเรา อย่างที่รู้กันว่าเกิดจาก การเผาในที่โล่งแจ้ง เช่น แปลงเกษตรรอบๆ ที่เราอาศัย หรือการจราจร ประกอบกับสภาพลมที่นิ่ง ซึ่งปกติในภาวะที่มีฝุ่นขนาดเล็กแบบนี้สูงในอากาศ ข้อแนะนำแรกๆ เลยคืองดกิจกรรมกลางแจ้งและปิดหน้าต่างครับ
การปิดหน้าต่างคือวิธีป้องกันแรกที่เราทำได้ และชนิดของหน้าต่างก็สำคัญ หน้าต่างที่ดีควรปิดแล้วสนิท ป้องกันอากาศรั่วเข้ามาภายในบ้านได้เป็นอย่างดี หน้าต่างไม้ที่มีช่องระหว่างบาน กับวงกบมากๆ จะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าในการป้องกันฝุ่น เมื่อเทียบกับหน้าต่างพวกอะลูมิเนียมที่มียางซีลบริเวณขอบวงกบ รูปแบบของหน้าต่างก็มีผลเหมือนกัน เช่น บานเลื่อน จะมีโอกาสอากาศรั่วมากกว่าบานเปิด ฉะนั้น ในการปรับปรุง หรือก่อสร้างที่พักอาศัยสำหรับภาวะฝุ่นขนาดเล็กมาเป็นฤดูกาลแบบทุกวันนี้แล้ว ก็ควรจะใส่ใจระบบหน้าต่างเป็นอันดับต้นๆ
นอกจากเลือกชนิดหน้าต่างแล้ว สิ่งแวดล้อมรอบๆ บ้าน ก็ช่วยได้ครับ ต้นไม้หลายชนิด มีคุณสมบัติดักจับฝุ่นขนาดเล็กได้ ถ้ารอบๆ บ้าน มีต้นไม้ครึ้มๆ ฝุ่นเล็กรอบๆ บ้านก็น่าจะลดลงได้ ส่วนระบบเครื่องกล ที่จะช่วยกรองฝุ่นที่อยู่ภายใน หรือการเปลี่ยนอากาศใหม่เข้ามาภายในบ้าน ระบบกรองฝุ่นเล็กระดับ PM2.5 ได้นั้น ตัวฟิลเตอร์ต้องมีลักษณะเฉพาะที่มีมาตรฐานระบุว่าสามารถกรองฝุ่นชนิดนี้ได้
ถ้าพูดถึงวัสดุหรือนวัตกรรม สำหรับปัญหาฝุ่นเล็ก แนะนำให้เลือกระบบประตู หน้าต่างแบบที่มีระบบป้องกันอากาศรั่วที่ดี มีการปิดล๊อกที่แน่นรอบบานกรอบ จะช่วยได้มาก ซึ่งข้อดีจากระบบหน้าต่างประตูที่ดีนั้น จะมีข้อดีเรื่องเสียงรบกวน แมลงรบกวน กลิ่น ควัน แถมยังประหยัดค่าไฟสำหรับระบบปรับอากาศจากที่ความชื้นภายนอกเข้ามาได้น้อย และอากาศเย็นภายในไม่รั่วออกด้วย จากนั้นค่อยพิจารณาระบบเครื่องกล (ที่มักมีราคาแพง) เข้ามาช่วย เช่น เครื่องฟอกอากาศ เครื่องปรับอากาศที่มีตัวกรองฝุ่นเล็ก เป็นต้น
นอกจากนี้ จากประสบการณ์โดยตรงที่อยู่ในบ้านที่มีระบบประตูหน้าต่างที่ดี แต่การปิดบ้านอยู่เป็นเวลานาน กลับพบว่าค่าสารระเหยจำพวก ฟอร์มาดิไฮด์ที่อยู่ใน สี หรือกาวเฟอร์นิเจอร์ กลับสูงจนอันตราย ซึ่งอันตรายพอๆ กับฝุ่นเล็กเช่นเดียวกัน การเลือกชนิดเครื่องเรือน หรือเลี่ยงกรรมวิธีก่อสร้างที่ไม่มีสารจำพวกนี้เป็นองค์ประกอบจะเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด และต้องไม่ลืมว่ามลภาวะที่เกิดภายในบ้านจากฝีมือของเราเองด้วย เช่น การปรุงอาหารในบ้าน หรือแม้แต่การจุดธูป ก็เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเข้มของฝุ่นเล็กภายในบ้านได้อย่างรวดเร็ว เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง หรือการแบ่งห้องครัว ห้องพระให้มีประตูปิดมิดชิดจากห้องอื่นๆ น่าจะช่วยได้เหมือนกันครับ”