Neo-vernacular Architecture หรือ สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นใหม่ คือ รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ประกอบด้วยสิ่งคัดสรรจากวัฒนธรรมพื้นถิ่นหลากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นวัสดุ รูปทรง และองค์ประกอบที่ดูซื่อ ๆ ตรงไปตรงมา ไม่ดัดจริต ของอาคารท้องถิ่น ในยุคก่อนที่จะมีอาคารสมัยใหม่ (modern building)
แนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นใหม่เริ่มปรากฏในประเทศไทยราว 4 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยมักถูกใช้กับการออกแบบบ้านพักอาศัย รีสอร์ท โรงเรียน ห้างร้านขายของแบบคอมมูนิตี้มอล และบางครั้งประยุกต์ใช้กับอาคารสำนักงานและธนาคารสาขาท้องถิ่น แนวทางเช่นนี้สอดคล้องกับหลักการบริบทนิยม กล่าวคือ เคารพในจิตวิญญาณของสถานที่และประเพณีการก่อสร้างท้องถิ่น
โดยหลักการแล้ว สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นใหม่ คือการสร้างความสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งกับสิ่งที่ดำรงในแหล่งนั้นมาก่อน ในขณะเดียวกันก็มีการเลือกใช้วัสดุและองค์ประกอบใหม่ ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าอาคารพื้นถิ่นใหม่นั้นจะไม่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาคารเก่าในอดีต อย่างไรก็ตาม นีโอ เวอร์แนคคูล่า ไม่ใช่การลอกเลียนแบบ หากมีความเจนจัดในการผสมผสานระหว่างของเก่าและใหม่ในลักษณะที่ไม่ธรรมดา (beyond ordinary) จนบางครั้งก็ก่อให้เกิดความกำกวม เช่น ไม่แน่ใจว่าสิ่งนั้นคือ สถานตากอากาศหรืออาคารทางศาสนากันแน่

ASA Talk ในงานสถาปนิก’61 Beyond Ordinary ครั้งนี้ ตั้งคำถามถึง ปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นใหม่ในประเทศไทยในห้วง 40 ปี ที่ผ่านมา เราชวนกลับไปพิจารณาถึง แรงบันดาลใจ เทคนิควิธีการ ที่สถาปนิกไทย หยิบ เลือก คัดสรร และพยายามประยุกต์ใช้องค์ประกอบจากงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในการออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของพวกเขา การสัมมนาครั้งนี้ไม่ใช่การบรรยายเดี่ยวโดยวิทยากร แต่จัดขึ้นในแบบการสร้างบทสนทนาเป็นคู่ (dialogue) ระหว่างสถาปนิกรับเชิญที่มีผลงานในด้านนี้ มาผลัดกันเล่า ผลัดกันถาม-ตอบ และร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสร้างงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นใหม่ของพวกเขา เราเชื่อว่าบทสนทนาของสถาปนิกรับเชิญเหล่านี้ จะช่วยสร้างความเข้าใจต่อปรากฏการณ์สถาปัตยกรรมร่วมสมัยได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรผลงานแก่สถาปนิกรุ่นใหม่ ๆ ต่อไป
โดยเราได้รับเกียรติจากสถาปนิกหลากหลายท่านที่มีความเชี่ยวชาญในงานด้าน Neo - Vernacular จับคู่กันเข้าร่วมสนทนา ดังนี้


(1) ศ.ดร.วีระ อินพันทัง และ (2) คุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์


(1) คุณศาวินี บูรณศิลปิน และ (2) คุณจริยาวดี เลขะวัฒนะ

(Cr.Architectkidd)

(1) คุณสันธาน เวียงสิมา และ (2) คุณดนัย สุรสา
วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม 2561
เวลา 15.30 - 18.30 น. ณ ลานกิจกรรมกลาง
ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ https://www.asaexpo.org/single-post/Neo-vernacular-Architecture