คุณคิดเหมือนกันไหมว่า ‘โรงแรมดุสิตธานี’ คือหนึ่งในสถาปัตยกรรมไทยโมเดิร์นที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการก้าวกระโดดของกรุงเทพฯ เชื่อแน่ว่าหลายคนที่เคยเป็นลูกค้าของโรงแรมนี้มาแต่เดิม เพียงแค่หลับตาก็คงนึกภาพความงามสง่าของอาคารสูง ที่ด้านบนประดับด้วยยอดแหลมสีทองนี้ได้ชัดเจน...
อย่างไรก็ดี เพื่อเปิดทางให้กับการพัฒนาที่ดินครั้งใหม่ ที่ต้องตอบรับกับเงื่อนไขทางธุรกิจที่ซับซ้อนขึ้น วันนี้แลนด์มาร์คของถนนสีลมที่มีอายุกว่า 50 ปีได้เดินทางมาถึงวันที่ต้องอำลาจากคนกรุงเทพฯ ไปแล้วอย่างถาวร เหลือไว้แค่เพียงประวัติศาสตร์ที่ครั้งหนึ่งมันเคยได้ชื่อว่า "เป็นที่สุดในทุกมิติ" เป็นอาคารที่สูงที่สุดของกรุงเทพฯ ออกแบบขึ้นอย่างทันสมัยที่สุด ส่งมอบบริการที่หรูหราที่สุด และเคยต้อนรับแขกเหรื่อคนดังมาแล้วจากทุกมุมโลก
โรงแรมดุสิตธานี ช่วงทศวรรษ 70s
ล้อบบี้โรงแรมที่เป็นหน้าเป็นตาของกรุงเทพฯ ในช่วงทศวรรษ 70s
ในวันที่ดุสิตธานีประกาศปิดตัวลงอย่างเป็นทางการในปี 2561 มีเสียงทักท้วงจากผู้คนจำนวนมากทันทีที่ทราบว่าผู้บริหารมีแผนจะรื้อถอนตึกโรงแรมเดิม และก่อสร้างอาคารมิกซ์ยูสรูปแบบใหม่ขึ้นแทนที่ กระแสต่อต้าน "การทุบทำลาย" ปะทุขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทีมผู้บริหารของดุสิตธานีต้องก้าวออกมาแสดงเจตจำนงกับคนกรุงเทพฯ ว่า "แม้จำเป็นจะต้องทุบทำลายอาคารเพื่อสร้างใหม่ แต่พวกเขาจะอนุรักษ์ความเป็นดุสิตธานีเดิมให้คงอยู่กับคนไทยต่อไปให้มากที่สุด”
ถ้อยแถลงนั้นนำมาสู่การเกิดขึ้นของโครงการ Preserving Dusit Thani Bangkok’s Artistic Heritage ที่ ชนินทธ์ โทณวณิก ทายาทของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย (ผู้ก่อตั้งโรงแรม) ริเริ่มประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดตั้งโครงการศึกษาวิจัย อนุรักษ์ และเก็บบันทึกประวัติศาสตร์ทุกมิติของโรงแรมดุสิตธานีไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา
โดยโครงการนี้วางเป้าที่จะเก็บรักษารายละเอียดต่างๆ ของโรงแรมดุสิตธานีที่ยังคงคุณค่าต่อจิตใจ (และต่อประวัติศาสตร์) ไว้ในสามส่วนหลัก หนึ่งคือส่วนงานอนุรักษ์ อันได้แก่ การเก็บงานเครื่องไม้สักทองแกะลายบนฝ้าเพดาน งานจิตรกรรม รวมถึงเปลือกด้านนอกของอาคารเดิมไว้ สองคือส่วนงานศึกษาวิจัย ที่รวมถึงการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม และพืชพันธุ์ในพื้นที่ ส่วนสุดท้ายคืองานเผยแพร่คุณค่า ที่จัดทำในรูปแบบของนิทรรศการศิลปะ รวบรวมงานจิตรกรรมของศิลปินแห่งชาติและศิลปินชั้นนำของไทยรวม 20 ท่าน
“อดีตคือแรงบันดาลใจสู่อนาคตที่ยั่งยืน และคนรุ่นหลังก็ควรมีโอกาสได้เรียนรู้ถึงมรดกสถาปัตยกรรมอันเป็นหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งของกรุงเทพฯ อันนี้" ชนินทธ์ โทณวณิก กล่าว
ณ ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสำคัญนี้ พวกเราได้แต่หวังว่าการเปลี่ยนแปลงของ 'ดุสิตธานี' จะไม่ได้ล้างบางหน้าประวัติศาสตร์ของโรงแรมระดับตำนานนี้จนไม่เหลือจิตวิญญาณเดิม เพราะความเป็นดุสิตธานีนั้น หากจะว่าไปก็คือบทบันทึกทางวัฒนธรรมอันหนึ่งของคนไทยและเมืองไทย และคนกรุงเทพฯ เองย่อมมีความหวังลึกๆ ว่าในอีกสามสี่ปีข้างหน้า เมื่อโรงแรมใหม่เปิดตัวขึ้น ชื่อของ ‘ดุสิตธานี’ จะได้กลับมายืนหนึ่งอีกครั้ง ในฐานะสัญลักษณ์ของถนนสีลมที่ยังคงฉายภาพความรุ่มรวยแบบไทย และสร้างความเป็นที่สุดไม่เหมือนใครต่อไปอีกอย่างน้อย 50 ปี
สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวมรดกสถาปัตยกรรมทำนองนี้ งานสถาปนิก’64 จะกลับมาพร้อมแนวคิด “มองเก่า ให้ใหม่: Refocus Heritage” เพื่อปรับมุมมองของเหล่าสถาปนิก นักออกแบบ และบุคคลทั่วไปเกี่ยวกับการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมที่อยู่รอบๆ ตัว โดยงานสถาปนิก'64 "มองเก่า ให้ใหม่: Refocus Heritage" จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-27 มิถุนายนนี้ ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ภาพ: Courtesy of Dusit Thani Hotel