top of page

Introduction Pavilion การตีความงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในมุมมองใหม่


Introduction Pavilion หนึ่งในนิทรรศการไฮไลต์ของงานสถาปนิก ’61 ได้สถาปนิกรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง สาวิตรี ไพศาลวัฒนา และ Jakub Gardolinski จาก บริษัทสถาปนิก PAGAA และ เมธัส ศรีสุชาติ จาก MAGLA แทคทีมกันออกแบบพาวิเลียนส่วนต้อนรับของงานสถาปนิก ฟังก์ชั่นหลักของพาวิเลียนนี้คือพื้นที่แนะนำนิทรรศการที่มีบุคลิกแตกต่างจากส่วนอื่นๆ

โจทย์คือการตีความ 'วิถีพื้นถิ่น' หรือ Vernacular Living

ผู้ออกแบบเลือกที่จะตีความผ่านแนวความคิดของวัสดุพื้นถิ่นในปัจจุบัน ผ่านการทำความเข้าใจกับวัสดุพื้นถิ่นแบบดั้งเดิม เพื่อนำเสนอทางเลือกใหม่ๆในการตีความ วัสดุหลักที่ถูกเลือกใช้สำหรับ Pavilion คือกระดาษรวงผึ้ง ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย ราคาถูก และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ มีลักษณะคล้ายกล่องสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่บนฐานทรงกลม 'ลูกบอลพลาสติกขนาดยักษ์' ทำให้พาวิเลียนเสมือนลอยอยู่กลางอากาศ โครงสร้างภายนอกที่ดูเรียบง่ายนี้จะช่วยทำหน้าที่เป็นเสมือนฉากส่งเสริมให้กับ Pavilion โดยรอบเล่าเนื้อหาของนิทรรศการ แต่เมื่อเข้ามาข้างในแล้วจะพบว่ามีความไม่ธรรมดาซ่อนอยู่

เกี่ยวกับ PAGAA

สตูดิโอออกแบบ PAGAA (PAISALWATTANA GARDOLINSKI ARCHITECTS) ก่อตั้งเมื่อปี 2558 โดยสองสถาปนิก สาวิตรี ไพศาลวัฒนา และ Jakub Gardolinski สตูดิโอสถาปนิกที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในด้านงานสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมภายใน และการออกแบบเฟอร์นิเจอร์

ทั้งสาวิตรีและ Jakub ในฐานะหัวเรือใหญ่ผู้ก่อตั้งสตูดิโอ ได้นำแนวคิดและแรงบันดาลใจที่เก็บเกี่ยวได้จากการทำงานในหลากหลายประเทศ มาผสมผสานเพื่อพัฒนาผลงานที่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ เชื่อมโยงกับพื้นที่ และนำมาซึ่งวิธีการใหม่ๆ ที่มากกว่าการตอบโจทย์ด้านประโยชน์ใช้สอยทั่วไป ผลงานล่าสุดของ PAGAA ที่กำลังเป็นที่จับตาคือการออกแบบตกแต่งภายใน ‘ขบวนรถประชุมปรับอากาศ’ (Conference car) ของรถไฟไทย ที่ต้องเอาชนะข้อจำกัดของพื้นที่และการก่อสร้างบนรถไฟ เพื่อนำเสนอประสบการณ์อันพิเศษสุดให้กับผู้ใช้

นอกจากการทำงานที่ PAGAA แล้ว ปัจจุบันสาวิตรียังอุทิศเวลาให้กับภาคการศึกษา ในฐานะอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ในขณะที่ Jakub Gardolinski ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอ ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น Adjunct Professor ให้กับโปรแกรม SoA+D ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พ่วงตำแหน่งผู้วิจารณ์งานรับเชิญให้กับมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง

เกี่ยวกับ เมธัส ศรีสุชาติ

เมธัส ศรีสุชาติ เป็นสถาปนิกที่มีประสบการณ์การทำงานในระดับนานาชาติมากมาย ทั้งในทวีปยุโรป เอเชีย และอเมริกา เขาก่อตั้งสตูดิโอออกแบบ MAGLA ร่วมกับ กิ่งแก้ว เมชนัน (Ging Gal Metchanun) ขึ้นในปี พ.ศ.2554 เพื่อสร้างสรรค์ผลงานแนวประยุกต์ที่ผสมผสานปรัชญาทางสถาปัตยกรรมเข้ากับแนวคิดทางภูมิสถาปัตย์อย่างลงตัว

เมธัสไม่เชื่อในเรื่องข้อจำกัดระหว่างการออกแบบต่างสาขา เขามักจะแสวงหากลยุทธ์ที่เหมาะสมลงตัว เพื่อให้แนวคิดต่างๆ สามารถทำงานร่วมกันได้แบบพึ่งพาอาศัย และนำมาซึ่งงานออกแบบทีตอบโจทย์ ผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมชินสำคัญของ MAGLA ‘บ้านดำเนิน’ อาคารพักอาศัยริมน้ำได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมที่สมควรเผยแพร่ (Citation Awards) ปี 2557 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

ร่วมกันค้นหาความหมายของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในวิถีชีวิตร่วมสมัยได้ในงานสถาปนิก’61 วันที่ 1-6 พ.ค.61 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

 

bottom of page