top of page

Moving System Pavilion : เมื่อของเล่นโบราณถูกนำมาต่อยอดเป็นสถาปัตยกรรม


Moving System Pavilion สำหรับนิทรรศการที่ว่าด้วยเรื่องราวของการเคลื่อนที่ ระบบขนส่ง และโครงสร้างของเมือง เป็นนิทรรศการ 1 ใน 5 ทีเป็นไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาดในงานสถาปนิก’61 ตัวโครงสร้าง Moving System Pavilion ก็น่าสนใจไม่แพ้เนื้อหาของนิทรรศการ งานนี้ได้สถาปนิกระดับมาสเตอร์อย่าง ศ.ดร.วีระ อินพันทัง และสถาปนิกรุ่นใหม่ไฟแรง พิช โปษยานนท์ ร่วมกันออกแบบ

 

"แนวคิดคือการนำของเล่นโบราณมาสานต่อ

เป็นโครงสร้างสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นดีไซน์ร่วมสมัย"

 

แรงบันดาลใจจากปฏิปทาของหลวงตาโจ้ยแห่งวัดไทร อำเภอนครชัยศรี (นครปฐม) ที่ได้พลิกแพลงข้อต่อแบบ ‘เถรอดเพล’ (เถร – อด – เพล) ในของเล่นโบราณ มาประยุกต์สร้างเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่ซับซ้อนขึ้น (เช่น เก้าอี้ เครื่องตั้ง ฯลฯ) ซึ่งเทคนิคข้อต่อแบบเถรอดเพลที่ว่านี้ เมื่อนำมาขยายสัดส่วนและปรับขนาดสู่งานสถาปัตยกรรม ก็พบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะทดแทนเสาและคานได้ในระดับหนึ่ง จึงได้ทดลองนำไม้ท่อนมาสานขัดกัน ยึดโยงด้วยข้อต่อเถรอดเพล เพื่อก่อรูปเป็นศาลาโครงโปร่งขนาด 9 เมตร X 9 เมตร ครอบคลุมพื้นที่อย่างหลวมๆ เพื่อเปิดการสัญจรผ่านจากหลายทิศทาง

โมเดลโครงสร้าง Moving System Pavilion

เกี่ยวกับ ดร.วีระ อินพันทัง

ศาสตราจารย์ ดร.วีระ อินพันทัง นักวิชาการผู้หลงใหลในสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ท่านเป็นทั้งสถาปนิก และนักวิจัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ศ.ดร.วีระ ทุ่มเทพัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไว้มากมาย ซึ่งนับเป็นองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมในบริบทร่วมสมัย นอกจากนั้น ท่านยังคงทำงานสนับสนุนกิจกรรมด้านวิชาการ ช่วยเหลืองานอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและแวดวงวิชาชีพสถาปนิกอย่างสม่ำเสมอ

ผลงานเขียนและงานวิจัยที่โดดเด่น

นอกเหนือจากผลงานการออกแบบที่ได้รับการยกย่องในวงกว้าง ศ.ดร.วีระ ยังมีผลงานเขียนที่มีให้เห็นหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น หนังสือปลูกเรือนคล้อยตามผืนดิน ปักถิ่นคล้อยตามสายน้ำ : รวมบทความวิชาการว่าด้วยสถาปัตยกรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์สถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมข้าว (Vernacular architecture in rice culture), เรือนลาวโซ่ง : การกลายรูปในรอบสองศตวรรษ นอกจากนี้ ท่านยังเขียนบทความด้านสถาปัตยกรรมไว้เป็นจำนวนมาก อาทิ สถาปัตยกรรมไทยพิเคราะห์ : ว่าด้วยความเบาลอย, เชิงช่างทางไทย : ผลสัมฤทธิ์ของการล้ม สอบ ชะโงก, ปลูกเรือนตามใจพื้นดิน, เมื่อคนจีนอยู่เรือนไทย : กรณีศึกษาชุมชนบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ฯลฯ

 

bottom of page