เมื่อพูดถึงสถาปัตยกรรม “ชิโนยูโรเปียน ” ย่านชุมชนเก่าแก่ชุมชนหนึ่งที่โดดเด่นและชวนให้ “มองเก่า ให้ใหม่” ก็คือ “ย่านเมืองเก่า” แห่งจังหวัดภูเก็ต จังหวัดซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่ทางตอนใต้ของประเทศไทย และมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน และแม้เมื่อก่อน ความคึกคักจะกระจุกตัวอยู่ตามชายหาดต่างๆ ที่เป็นแหล่งของนักท่องเที่ยว แต่ในวันนี้ อีกหนึ่งย่านที่คึกคักไม่แพ้กันคือย่านเมืองเก่าภูเก็ตที่เรียงรายไปด้วยสถาปัตยกรรมแบบชิโนยูโรเปียน ที่หลายๆ แห่งได้กลายเป็นโรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ รวมถึงพิพิธภัณฑ์เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวเช่นกัน
สถาปัตยกรรมชิโนยูโรเปียน กับวิถีชีวิตชาวเมืองภูเก็ต
เริ่มจากในอดีต เกาะแห่งนี้เคยเป็นเมืองท่าสำคัญฝั่งตะวันตกที่มีความรุ่งเรืองและเฟื่องฟูในด้านการทำธุรกิจเหมืองแร่ และเคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ศิลปะวิทยาการอย่างสถาปัตยกรรมชิโนยูโรเปียนจึงเผยแพร่เข้ามาในช่วงนั้นอย่างแพร่หลายและมีวิวัฒนาการมาถึง 4 ยุค จากยุคแรกที่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมจีน รูปแบบเป็นอาคารปูนหรือดินผสมฟางชั้นเดียวหรือสองชั้นแบบเรียบง่าย สู่ยุคที่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรมแบบนีโอคลาสสิกและเรอเนซองส์ รูปแบบเป็นอาคารสองถึงสามชั้น ชั้นบนมีระเบียงยื่นล้ำชั้นล่าง ด้านหน้าเปิดเป็นทางเท้าเชื่อมต่อกัน ตกแต่งหัวเสาด้วยลายปูนปั้นแบบตะวันตก และมีการประดับตกแต่งส่วนหน้าของอาคารให้สวยงาม ซึ่งสถาปัตยกรรมชิโนยูโรเปียนในภูเก็ตสามารถแบ่งตามลักษณะการใช้งานได้ 3 กลุ่ม คือ อาคารสาธารณะ ตึกแถว และ คฤหาสน์
ลักษณะสำคัญของสถาปัตยกรรมแบบโปรตุเกสที่ผสมผสานเข้ากับฝีมือช่างชาวจีน คือ เป็นตึกแถวก่ออิฐหรือคอนกรีตที่สร้างขึ้นมาเป็นแนวยาวติด ๆ กัน แล้วแบ่งเป็นบล็อค ๆ มีหน้าตึกกว้างประมาณไม่เกิน 5 เมตร และข้างในทำเป็นแนวยาวลึกเข้าไป ช่วงหน้าตึกบางตึกมีเฉลียงยื่นออกมา ที่ประตูและหน้าต่างกรุกระจกพร้อมกับตกแต่งลวดลายที่ขอบ ใช้พื้นกระเบื้องดินเผาปูพื้นและหลังคามุงกระเบื้อง
ด้วยข้อจำกัดของโครงสร้างตึกทำให้ไม่สามารถสร้างหน้าต่างระบายอากาศได้ ทุกบ้านจึงต้องเจาะหลังคาเปิดโล่งบริเวณกลางบ้าน เรียกว่า “ฉิมแจ้” และสร้างบ่อน้ำลึกเอาไว้เพื่อให้ลม แสง อากาศ และฝนผ่านเข้ามา เป็นการระบายอากาศและสร้างที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ในครัวเรือนไปพร้อม ๆ กัน เพราะจังหวัดภูเก็ตมีลักษณะเป็นเกาะ ไม่สามารถผลิตน้ำดื่มได้ในปริมาณมาก แต่ละบ้านจึงต้องขุดบ่อน้ำไว้ใช้เอง
สถาปัตยกรรมชิโนยูโรเปียน ในเมืองภูเก็ตมี 6 เส้นทางให้เที่ยวชม ซึ่งแต่ละเส้นทางก็จะพาไปพบกับอาคารแต่ละแห่งที่ได้รับการปรับเปลี่ยนหน้าตาจากตึกเก่าให้ตอบรับกับวิถีชีวิตใหม่ของคนเมืองภูเก็ตมากขึ้น โดยยังคงโครงสร้างเดิมของอาคารเก่าแก่ 100 เอาไว้ แล้วปรับปรุงทาสีและตกแต่งให้เข้ากับปัจจุบันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของโรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ พิพิธภัณฑ์ ธนาคาร ร้านขายยา ออฟฟิศ ฯลฯ ซึ่งในบทความนี้ได้รวบรวมสถานที่ซึ่งเป็นตึกเก่าชิโนยูโรเปียนในเมืองภูเก็ตเอาไว้ ลองชมความงามและรับรู้คุณค่าแบบ “มองเก่า ให้ใหม่” เพื่อสืบสานลมหายใจแห่งมรดกทางสถาปัตยกรรมนี้ต่อไป
The Memory at On On Hotel
โรงแรมออนออน หรือ On On Hotel เป็นโรงแรมแห่งแรกของเมืองภูเก็ต ตั้งอยู่บนถนนพังงา เยื้องกับธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงเทพ ก่อตั้งโดย นายหยกเตี้ยว แซ่แป๊ะ ชาวจีนที่ล่องเรือสำเภาจากจีนสู่สิงคโปร์ และย้ายมาตั้งรกรากถิ่นฐานที่เกาะภูเก็ต เดิมโรงแรมมีชื่อเรียกเป็นภาษาจีนว่า "โรงแรม อัน อัน" มีความหมายว่า "ความสุขสำหรับผู้มาเยือน" ต่อมาเมืองภูเก็ตมีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติค่อนข้างมาก จึงเขียนชื่อโรงแรม เป็นภาษาอังกฤษว่า On On Hotel และเขียนเป็นภาษาไทยว่า โรงแรม ออน ออน เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ปัจจุบันโรงแรม The Memory Hotel ได้เข้ามาบริหารและพัฒนาโรงแรม บูรณะและปรับแต่งอาคารให้สวยงามและทันสมัยมากขึ้น นอกจากจะเปิดให้บริการห้องพักรายวันแล้ว ยังผสมผสานการนำเสนอโรงแรมในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ เพื่ออธิบายประวัติศาสตร์ความเป็นมาของวิถีชีวิตชาวเมืองภูเก็ตด้วย
ข้อมูลจาก website: thememoryhotel.com และ facebook: MemoryatOnOn
A49 PHUKET
สถาปนิก 49 หรือที่รู้จักกันในชื่อ A49 สาขาที่ภูเก็ตก่อตั้งขึ้นในปี 2548 ออฟฟิศนี้สร้างมาจากตึกเก่าย่านถนนดีบุก ซึ่งมีขนาดสองชั้น ที่นี่มีการให้บริการด้านสถาปัตยกรรมอย่างมืออาชีพ ครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการวางผังเมือง การวางแผนแม่บท การออกแบบสถาปัตยกรรมและการควบคุมการก่อสร้าง การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการการพัฒนาและการจัดการ ออฟฟิศเปิดวันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา ผลงานที่โดดเด่นและได้รับการออกแบบโดย A49 มีอยู่มากมาย อาทิ Ashton Asoke, Hyde 11, AQ Aria, The Monument, Noble Revo, PYNE, Ideo Q Chula, Ashton Chula, Ashton Asoke ฯลฯ
Phuket Glass Plates Museum
คาเฟ่และพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่บนถนนพังงา บริเวณด้านหลังพิพิธภัณฑ์เพอรานากัน ร้านนี้เป็นตึกแถวขนาดสองชั้น ภายในร้านตกแต่งด้วยงานปูน ชั้นหนึ่งเป็นส่วนของ Cafe & Eatery ที่มีทั้งเมนูเครื่องดื่มและอาหารคาวหวานให้เลือกทาน ชั้นสองซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของที่นี่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับฟิล์มกระจกที่เปิดให้เข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งในช่วงนี้กำลังจัดแสดงนิทรรศการ “Moment” นิทรรศการที่จะช่วยย้อนวันวานไปสู่ยุคสมัยเฟื่องฟูของร้านถ่ายภาพ และชั้นดาดฟ้าเปิดโล่งทำเป็นที่นั่งสำหรับดื่มกาแฟ
Phuket Glass Plates Museum ปิดบริการในวันจันทร์ และเปิดบริการทุกวันอังคาร - วันอาทิตย์ เวลา 09.00 - 17.00 น. ส่วน Cafe & Eatery เปิดเวลา 09.00 - 18.00 น. ติดตามข่าวสารการจัดแสดงนิทรรศการต่าง ๆ ที่ facebook: Phuketglassplatesmuseum
หนัง(สือ) ๒๕๒๑
หนัง(สือ) ๒๕๒๑ หรือ Book Cafe' aka Bookhemian ตั้งอยู่บนถนนถลาง ย่านเมืองเก่าภูเก็ต สถานที่แห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงร้านหนังสือทั่ว ๆ ไป แต่ที่นี่เกิดขึ้นมาจากความรักและความหลงใหลที่มีต่อหนังสือวรรณกรรมไทยของเจ้าของร้านเอง ดังนั้น บรรยากาศในร้านจึงแตกต่างออกไป ผู้คนที่แวะเวียนมาที่แห่งนี้นอกจากจะได้ใช้เวลากับการอ่านหนังสือแล้ว ยังสามารถรับชมหนังนอกกระแสหลากสัญชาติ ชมงานศิลปะจากศิลปินหลายแขนงทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และดื่มด่ำกับกาแฟรสเลิศที่ถูกจัดให้เป็นร้านกาแฟแนะนำของภูเก็ตได้อีกด้วย
ติดตามร้านกาแฟสไตล์ดิบเท่ ที่อยู่ภายในตึกสไตล์ชิโนยูโรเปียนนี้ได้ที่ facebook: bookhemian ร้านเปิดให้บริการทุกวัน วันจันทร์ - วันพฤหัสบดี เวลา 10:00 - 17:00 น. และ วันศุกร์ เวลา 10:00 - 20:00 น. โทร. 081-788-5901
ตรอกหงอคาขี่
ตรอกหง่อคาขี่ ตั้งอยู่บนถนนถลาง จังหวัดภูเก็ต ในตรอกแห่งนี้รวมร้านค้าเล็ก ๆ ไว้สามร้าน คือ Always Summer ร้านเครื่องดื่มเมนูเย็น Auntie bowl ร้านอาหารประเภทข้าวและอาหารเพื่อสุขภาพ และสุดท้ายคือร้านขายของที่ระลึก
คำว่า “หง่อ” เป็นภาษาจีน แปลว่า 5 และ “กากี” เป็นคำภาษามลายู แปลว่า ทางเดิน รวมกันจึงหมายถึง ทางเดินกว้าง 5 ฟุต ที่มีหลังคาคลุมสามารถเดินต่อเนื่องกันได้ ซึ่งจะถูกสร้างต่อไว้บริเวณหน้าบ้านทุกหลัง หง่อคาขี่เรียกได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่ออกแบบมาเพื่อรองรับกับสภาพอากาศของภูเก็ตที่เป็นเกาะและมีฝนตกเยอะมาก และยังแสดงถึงความเอื้ออาทรของเจ้าของบ้านในการสละพื้นที่หน้าบ้านของตัวเองเป็นทางเท้าให้กับผู้สัญจรไปมาได้หลบแดดหลบฝนอีกด้วย ดังนั้น ตรอกเล็ก ๆ ที่ตั้งชื่อว่าหง่อคาขี่นี้จึงเปรียบเสมือนพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างผู้คนไว้ด้วยกันดังเช่นหง่อคาขี่ในอดีต
สัมผัสบรรยากาศสบาย ๆ แบบนี้ได้ในวันพุธ - วันจันทร์ เวลา 10:00 - 20:00 น. (ร้านปิดวันอังคาร) และรับฟังดนตรีสดได้ในวันอาทิตย์ ติดตามเรื่องราวของตรอกหง่อคาขี่ได้ที่ facebook: ngorkahkeephuket โทร. 099-535-3656
บ้านพระพิทักษ์ชินประชา
บ้านชินประชา คฤหาสน์สไตล์ชิโนยูโรเปียนหลังแรกของภูเก็ตอายุกว่า 117 ปี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2446 ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อใช้เป็นเรือนหอ โดยพระพิทักษ์ชินประชา ซึ่งในขณะนั้นมีอายุเพียง 20 ปี แต่เนื่องจากทำเลที่ตั้งของคฤหาสน์หลังนี้ค่อนข้างใกล้กับตลาดใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งค้าขายหลักในสมัยนั้น ท่านจึงอาศัยอยู่บ้านหลังเดิมแถวตลาดใหญ่ และใช้คฤหาสน์แห่งนี้เป็นเรือนรับรองแก่เจ้านายชั้นสูงแทน ก่อนจะยกให้เป็นเรือนหอของลูกชายคนโต แล้วสร้างคฤหาสน์หลังใหม่ของตนเองใกล้ ๆ กับเรือนหอของลูกชาย (บ้านพระพิทักษ์ชินประชา) รวมพื้นที่ทั้งหมดในการสร้างคฤหาสน์สองหลังประมาณ 20 ไร่
ปัจจุบัน บ้านชินประชาเปิดชั้นล่างเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของตระกูล "ตัณฑวณิช" และส่วนอื่น ๆ ยังคงเป็นที่อยู่อาศัยของทายาทในตระกูลอยู่ โดยผู้ที่มาเที่ยวบ้านชินประชาจะได้ชมความสวยงามในการตกแต่งบ้านที่ประกอบขึ้นจากวัสดุนำเข้าในสมัยนั้น และยังได้ย้อนดูวิถีชีวิตคนสมัยก่อนผ่านข้าวของเครื่องใช้และการจัดวางต่าง ๆ อีกด้วย ติดตามข้อมูลที่ facebook: baanphrapitakchinpracha โทร. 076-211-281
และในส่วนบ้านพระพิทักษ์ชินประชา ปัจจุบันได้เปิดเป็นร้านอาหาร Blue Elephant Phuket ร้านอาหารที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก จุดเด่นของที่นี่คือการเสิร์ฟอาหารแบบเปอรานากัน (Peranakan) อาหารดั้งเดิมของชาวภูเก็ตที่มีความเฮอริเทจ โดยเกิดจากการผสมผสานระหว่างเชื้อชาติภูเก็ตกับเชื้อชาติมาเลเซีย ร้านนี้เปิดให้บริการทุกวัน วันละ 2 เวลา คือ รอบ 11:30 - 14:00 น. และรอบ 18:30 - 22:30 น. โทร. 076-354-355 website: blueelephant.com/phuket
ธนาคารกสิกรไทย สาขาภูเก็ต
ใครที่ได้ออกไปท่องราตรียามค่ำคืนในเมืองภูเก็ต บนถนนพังงา ก็คงจะสะดุดตากับอาคารสไตล์ชิโนยูโรเปียนสีขาวหลังนี้ ที่นี่คือ ธนาคารกสิกรไทย สาขาภูเก็ต สถานที่แลนด์มาร์คอีกแห่งหนึ่งของเมืองภูเก็ต
ตัวอาคารแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิดการเป็น “ไลฟ์สไตล์ แบงกิ้ง” (Lifestyle Banking) มีการตกแต่งสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโนยูโรเปียน เพื่อให้กลมกลืนกับชุมชน โดยดึงวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ามาผสมผสาน ซึ่งจะช่วยเกิดภาพลักษณ์ความเป็นไลฟ์สไตล์ แบงกิ้ง สามารถสร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ที่มากกว่าการบริการทางการเงินแก่ผู้คนในท้องถิ่นได้
เมื่อได้มองเห็นตึกเก่าสไตล์ชิโนยูโรเปียนที่หลงเหลืออยู่ในเมืองภูเก็ต ก็ทำให้เราได้ย้อนเห็นภาพในวันวานอีกครั้ง อาจเป็นตอนที่เรือสำเภาลำหนึ่งของบรรพุบุรุษชาวจีนเดินทางมายังท่าเรือภูเก็ตเป็นครั้งแรก ตอนที่บรรพบุรุษกำลังก่อร่างสร้างตัวด้วยการค้าขายจนรุ่งเรืองเฟื่องฟูในเกาะแห่งนี้ หรือตอนที่ท่านสร้างครอบครัวและมีทายาทสืบสานวงศ์ตระกูลจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ได้กล่าวถึงในแง่ของความสำเร็จ แต่นี่คือวิถีชีวิตดั้งเดิม คือความเป็นอยู่ที่ทำให้รู้ว่าเราเป็นใคร เรามาจากไหน และที่ใดที่เรากำลังจะเดินต่อไป
“มองเก่า ให้ใหม่” อาจไม่ได้มองในสิ่งที่แปลกไป หรือต่างไป แต่อาจเป็นการมองย้อนเรื่องราวของอดีตเพื่อรำลึกและจดจำในปัจจุบัน คุณค่าและมรดกจะอยู่ได้อีกนานเท่าใดคงขึ้นอยู่กับว่าปัจจุบันเราเลือกจะเก็บ หรือเลือกจะเปลี่ยนอะไรบ้างในชีวิตเพื่อให้ตอบรับกับวิถีชีวิตใหม่
ร่วมกันมองหาอดีตในปัจจุบันกับ “มองเก่า ให้ใหม่” ในงานสถาปัตยกรรมเก่าและการอนุรักษ์ สามารถพบกับเรื่องราวของมรดกทางสถาปัตยกรรมและเรื่องราวของมรดกที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันได้ที่งานสถาปนิก'64 "มองเก่า ให้ใหม่: Refocus Heritage" จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-27 มิถุนายนนี้ ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี