แนวคิดออกแบบ ASA Friends Pavilion ในงานสถาปนิก’61
เนื้อหาในส่วนของพาวิเลียน ASA Friends ประกอบด้วยนิทรรศการทั้งหมด 5 ส่วนได้แก่ Universal Design, สภาสถาปนิก, สภาคณบดี, Green Building และสถาปนิกภูมิภาค ซึ่งศศิชลวรีได้รับบทบาทในการออกแบบพื้นที่ในส่วนนี้ด้วยวัสดุไม้ไผ่ สิ่งแรกที่เธอต้องการคืออยากให้พื้นที่มีความพิเศษ ผู้ชมสามารถเข้าชมนิทรรศการได้อย่างทั่วถึง ดังนั้น จึงพลิกแพลงด้วยการนำแพทเทิร์นการสานมาสร้างสรรค์ เป็นลักษณะทางเดินแบบไขว้กันไป-มา เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของผู้เข้าชมนิทรรศการ ส่วนไม้ไผ่แทนที่จะนำมาสานกัน เธอกลับดีไซน์ให้รวมตัวเป็นแนวตั้งผสานกับการนำวัสดุเหล็กมาใช้ทำเป็นฐาน ออกแบบไล่ระดับสูง-ต่ำ สร้างให้เกิดลูกเล่น สามารถมองเห็นภาพรวมของพื้นที่ง่ายๆ พร้อมกับชื่นชมความงามของวัสดุที่นำมาก่อสร้างได้นั่นเอง
ด้วยอุปนิสัยชอบทำการทดลองเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ และมักหยิบนำความธรรมดาที่คุ้นเคยมาต่อยอดให้เกิดความรู้สึก ‘ว้าว’ ได้อย่างท้าทาย
ทั้งหมดนี้ อยู่ในความสนใจของ ศศิชลวรี สวัสดิสวนีย์ บัณฑิตจากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พ่วงตำแหน่งสถาปนิกรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งบริษัท Slip Architects จึงไม่น่าแปลกใจที่ Slip Architects กลายเป็นแหล่งรวมตัวของคนทำงานที่กล้าทดลองใช้วัสดุในแง่มุมแตกต่าง ผลงานที่ผ่านมาอาทิเช่น บ้านพักอาศัยที่เล่นกับ Vertical Skin ซึ่งทำจากวัสดุไม้เทียม หรืออพาร์ตเมนต์ที่ออกแบบ façade รองรับการอยู่อาศัยในเมืองร้อนของเธอ จึงมีความโดดเด่นแปลกตาไม่เหมือนใคร
‘พื้นถิ่น’ ในความคิดของสถาปนิกรุ่นใหม่
แม้เป็นคนรุ่นใหม่ แต่ศศิชลวรีชื่นชมความเป็นพื้นถิ่น แถมให้คำจำกัดความได้น่าสนใจว่า ความเป็นพื้นถิ่นคือการอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมและบริบทที่ต้องสร้างให้เกิดความสมดุล สะดวกสบาย และตอบสนองผู้อาศัยได้ถึงแม้ในยามที่โลกนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการใช้วัสดุธรรมชาติมาสร้างพื้นที่อยู่อาศัยอาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะวัสดุพื้นถิ่นกลายเป็นสิ่งที่หายากขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของสถาปนิกในปัจจุบันที่ต้องลองหาวัสดุใหม่ๆ มาผสมผสานกับวัสดุที่เคยใช้กันมาแล้ว เพื่อให้เกิดความพอดีและสร้างสรรค์
ร่วมกันค้นหาความหมายของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในวิถีชีวิตร่วมสมัยได้ในงานสถาปนิก’61 วันที่ 1-6 พ.ค.61 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี