เบื้องหลังเสน่ห์ย่านเมืองเก่าสงขลาบริเวณถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม ที่สะดุดตาด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่สไตล์ลูกผสมชิโน-ยูโรเปี้ยน คือความร่วมมือร่วมใจของลูกหลานในชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่กำลังจับมือกันผลักดันให้เมืองเก่าแห่งนี้ก้าวสู่ความเป็นเมืองมรดกโลก แต่หมุดหมายนี้จะต้องใช้อะไรเป็นต้นทุนบ้าง ภาคีคนรักเมืองสงขลาฯ เคยบอกกับเราว่า “มรดกของเมืองเก่าสงขลานั้น หากจะใช้คำภาษาอังกฤษก็คือ Living Heritage หรือความเป็นเมืองเก่าที่มีชีวิตนั่นเอง”
นั่นเป็นความจริงที่ยากจะปฏิเสธ เพราะหากถามใครที่ไปเยี่ยมเยือนสงขลาในช่วงสิบปีให้หลังนี้ ไม่ว่าจะเดินไปตามตรอกซอยไหนคุณก็มักจะพบอาคารเก่าแก่งดงามที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ในรูปแบบต่างๆ บ้างถูกปรับปรุงเป็นร้านกาแฟ บ้างเป็นร้านอาหาร หรือเป็นร้านขายของสไตล์ใหม่ๆ โดยคนรุ่นสองรุ่นสาม โดยทุกหลังยังคงแฝงกลิ่นอายความดั้งเดิมที่ผสานศิลปะแบบไทย จีน และมลายู ไว้อย่างกลมกลืน "คุณจะเห็นผู้คนที่ขายข้าวปลาอาหารสูตรโบราณ เช่นขนมสัมปันนี ขนมทองเอก ขนมการอจี๋ ขนมลูกโดน ซาลาเปาลูกใหญ่แบบจีน สลับไปกับภูมิทัศน์ใหม่ๆ ของร้านค้าแบบฝรั่ง คาเฟ่ หรืออาร์ตสเปซ ที่ผูกมิตรอยู่ด้วยกันได้แบบไม่เคอะเขิน” คนสงขลารุ่นใหม่ๆ บอกไว้แบบนั้น
อย่างไรก็ดี เมื่อเสน่ห์ของวันวานได้ก้าวเดินมาสู่วันนี้แล้วอย่างสวยงาม คำถามคือในอนาคตจากนี้เมืองเก่าสงขลาควรจะฉายภาพอย่างไรเพื่อก้าวสู่ฐานะมรดกโลก? ดร.จเร สุวรรณชาต รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย หนึ่งในภาคีคนรักเมืองสงขลาฯ มีมุมมองต่อประเด็นนี้ว่า “เมืองเก่าสงขลามีความโชคดี เพราะมีคู่เปรียบเทียบอย่างปีนังและมะละกาที่เป็นเมืองมรดกโลกอยู่ก่อนแล้ว ตัวเทียบเช่นนี้ทำให้อัตลักษณ์ของสงขลายิ่งเด่นชัดขึ้นในเรื่องความหลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องของเชื้อชาติที่เรามีทั้งคนไทย คนพุทธ คนจีน คนมุสลิม อยู่ร่วมกันมายาวนาน มันสะท้อนให้เห็นผ่านทั้งวัฒนธรรมการกิน การออกแบบบ้านเรือนสถาปัตยกรรม ฯลฯ ซึ่งต่างจากเมืองอื่นที่ชนชาติต่างๆ เขายังมีเขตแดนระหว่างกันบ้าง เช่นมีย่านคนจีนเรียกว่าไชน่าทาวน์ หรือย่านคนแขกเรียกว่าลิตเติลอินเดีย ...แต่ที่สงขลาไม่ใช่ คุณเดินเล่นบนถนนเส้นเดียวก็จะสัมผัสได้ถึงมรดกของทุกชนชาติ มันแสดงถึงประวัติศาสตร์ที่ว่าเราอยู่อย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร นี่คือเสน่ห์ของเราที่ไม่มีที่ใดเหมือน” ดร.จเร อธิบายถึงมรดกเมืองเก่าที่เขาภูมิใจ
5 ตัวอย่างการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมด้วยวัฒนธรรมร่วมสมัย
The Apothecary of Singora
บ้านจีนโบราณสไตล์ฮกเกี้ยนหลังนี้ตั้งอยู่บนถนนนครใน ในอดีตเคยเป็นร้านขายยาของ ‘แป๊ะขวด’ ที่ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงใหม่ แต่ยังคงกลิ่นอายเดิมๆ ไว้ ภายในบ้านเปิดเป็นทีเฮาส์เล็กๆ และร้านขายของ APO STORE ที่รวมผลงานดีไซน์และผลิตภัณฑ์จากฝีมือคนในชุมชนมานำเสนอ ทะลุผ่านกำแพงเรือนเข้าไปด้านใน เบื้องหลังอิฐก่อโบราณนี้ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวของกิจการที่สั่งสมมาแต่อดีต ตั้งแต่ครั้งที่เมืองเป็นที่รู้จักในชื่อเมือง ‘สิงขร’ ก่อนจะกลายมาเป็น ‘สิงหนคร’ หรือ ‘ซิงกอร่า’ ตามสำเนียงเพี้ยนเสียงของฝรั่งและมลายู
A.E.Y. Space
ชุดตึกแถวเก่าบนถนนนางงามนี้สร้างขึ้นตั้งปลายสมัยรัชกาลที่ 6 (ราวปี พ.ศ. 2460) ปัจจุบันเป็นอาคารที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคารพาณิชย์จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ (ปี 2561) ลักษณะเด่นคือเป็นตึกสไตล์จีน-ฝรั่ง หน้าต่างเป็นลวดลายขนมปังขิง ด้านในเปิดเพดานสูงโปร่ง และมีบ่อน้ำสำหรับใช้ในครัวเรือนอยู่ด้านหลัง ชั้นล่างของอาคารทุกวันนี้เปิดเป็นแกลเลอรี่ศิลปะ ส่วนชั้นสองเป็นห้องพัก 2 ห้องสำหรับศิลปินพำนัก (Artist in Residence) ตกแต่งด้วยเครื่องเรือนและของใช้สไตล์อาร์ตเดโคจากยุคปี 40s – 50s ซึ่งเจ้าของบ้านเล่าว่าค่อยๆ สะสมจากหลายแหล่งที่มา ทั้งจาก ebay จากตลาดนัดในสงขลา และ flea market ในต่างประเทศ
โรงสีแดง หับ โห้ หิ้น
คือโรงสีข้าวเก่าแก่ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าบน ถ.นครนอก ตัวอาคารทาสีแดงขลังแบบคลาสสิก ในอดีตเคยเป็นของต้นตระกูลเสาวพฤษ์ (ขุนราชกิจจารี) ที่ร่วมหุ้นกับตระกูลโคนันทน์ จัดตั้งโรงสี ในชื่อ “หับ โห้ หิ้น” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2454 (หับ โห้ หิ้น เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยนแปลว่า เอกภาพ ความกลมกลืน และความเจริญรุ่งเรือง) น่าดีใจว่าแม้กาลเวลาจะผ่านมานับร้อยปีแล้ว แต่สภาพของโรงสีแดงนี้ก็ยังได้รับการทำนุบำรุงไว้อย่างดี และเป็นอีกแห่งที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคารพาณิชย์จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ (ปี 2554) ปัจจุบันคุณรังสี รัตนปราการ เจ้าของโรงสีแดงรุ่นที่ 3 และประธานภาคีคนรักเมืองสงขลาฯ ได้พัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต และเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมของชุมชน
บ้านนครใน
เป็นบ้านเก่าแก่อายุกว่า 300 ปีบนถนนนครใน ลักษณะเป็นอาคารชุด 2 หลัง หลังที่หนึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน ส่วนอีกหลังเป็นตึกสีขาวแบบชิโนยูโรเปี้ยน ปัจจุบันบ้านนครในนี้มีบทบาทเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งการอนุรักษ์มรดกล้ำค่า ที่เล่าเรื่องราวของเมืองเก่าสงขลาในฐานะเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองในอดีต พูดถึงการเดินทางของคนจีนโพ้นทะเลที่มาตั้งรกรากในเมืองสงขลาและเริ่มกิจการติดต่อค้าขายกับชาวฝรั่งเป็นจำนวนมาก บรรพบุรุษเชื้อสายจีนได้ตกแต่งบ้านหลังนี้เป็นแบบชิโนยูโรเปี้ยน ให้มีความสวยงามและกลมกลืนไปกับวัฒนธรรมจีน โดยเจ้าของบ้านคนปัจจุบันและผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ คุณกระจ่าง จารุพฤกษ์พันธ์ ได้นำของเก่าสะสมทรงคุณค่าหลายชิ้นมาจัดแสดง เช่นถ้วยโถโอชามจากยุคราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง เตียง ตู้ โต๊ะและม้านั่งแบบจีนโบราณ ฯลฯ นับเป็นแหล่งศึกษาโบราณวัตถุที่มีความเป็นมายาวนานนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3
บ้านจีนสามห้อง
ตั้งอยู่บนถนนนครใน ถูกปล่อยร้างมาหลายปีจนอยู่ในสภาพที่ต้องการการบูรณะ ปัจจุบันเจ้าของบ้านได้มอบพื้นที่ให้หอจดหมายเหตุ รร.มหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา (โดย อ.จรัส จันทร์พรหมรัตน์) ผู้มีความรู้และมีภาพถ่ายโบราณและสิ่งพิมพ์โบราณของสงขลา มาจัดนิทรรศการให้บุคคลทั่วไปและนักท่องเที่ยวเข้าชมฟรี เพื่อสร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิดให้กับลูกหลานชาวสงขลา และเป็นจุดท่องเที่ยวที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับนักท่องเที่ยว
สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมในเมืองเก่า สามารถเข้าชมไอเดียใหม่ๆ เกี่ยวกับงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมได้ที่งานสถาปนิก'64 "มองเก่า ให้ใหม่: Refocus Heritage" จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-27 มิถุนายนนี้ ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ข้อมูลเพิ่มเติม www.asaexpo.org