top of page

สตรีตอาร์ต ชุบชีวิตมรดกเมืองและสถาปัตยกรรม

ศิลปะบนผนังที่ช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างพลวัตให้กับย่านและชุมชน

กราฟฟิตี้ และ สตรีตอาร์ต สองคำนี้มักถูกใช้ควบคู่กันมาตลอด เพราะเข้าใจแบบผิวเผินว่าน่าจะมีความหมายเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้ว คำสองคำนี้กลับหมายถึงงานศิลปะคนละประเภท และมีรูปแบบหรือเทคนิคที่ใช้ในการสร้างงาน เจตนารมย์ในการสร้างงาน และกลุ่มผู้ชมผลงานที่เป็นเป้าประสงค์ของผลงานแตกต่างกัน


นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กท่านหนึ่ง เคยได้ให้นิยามของ กราฟฟิตี้ ไว้ว่า คือ ลักษณะงานที่มุ่งเน้นถึงตัวอักษรเป็นพื้นฐาน (text-based) ซึ่งหมายความรวมถึงการเขียนชื่อของใคร หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีความสำคัญต่อตัวศิลปินลงบนพื้นผิวในที่สาธารณะ และมักจะใช้เพียงสเปรย์กระป๋องเป็นอุปกรณ์หลักในการสร้างผลงาน กราฟฟิตี้จะมุ่งเน้นการแสดงออกถึงตัวตนมากกว่าจะให้ความสำคัญว่าสาธารณชนเข้าใจในสิ่งที่ศิลปินเขียนขึ้นหรือไม่ ดังนั้น หากบุคคลทั่วไปที่พบเห็นภาพกราฟฟิตี้แล้วจะไม่เข้าใจความหมาย หรือดูไม่ออกว่าผู้วาดต้องการสื่อสารถึงอะไร ก็เป็นเรื่องธรรมดา


ในขณะที่ สตรีตอาร์ต นั้น มีนิยามที่ตรงกันข้าม เพราะงานชนิดนี้จะไม่มุ่งเน้นความโดดเด่นของตัวหนังสือมากนัก แต่จะให้ความสำคัญกับการนำเสนอด้วยภาพ โดยสตรีทอาร์ทจะสร้างมาจากความตั้งใจของศิลปินที่ต้องการให้สาธารณชนได้เห็นงานของตัวเอง และเกิดปฏิสัมพันธ์ ความเข้าใจในสิ่งที่เห็น และอารมณ์หรือความรู้สึกตอบสนองต่อชิ้นงานนั้นด้วย การวาดภาพสตรีตอาร์ตเป็นงานที่มักจะสร้างโดยศิลปินที่ได้รับการฝึกฝนหรือมีความรู้ในเชิงศิลปะการวาดภาพ วัสดุอุปกรณ์ในการสร้างงานก็มีหลายอย่างแตกต่างกันไป ด้วยความที่ต้องใช้ทั้งระยะเวลาและพื้นที่ในการทำงานมากกว่ากราฟฟิตี้ งานสตรีตอาร์ตจึงมักจะสร้างขึ้นในพื้นที่ที่ได้รับการอนุญาตหรือได้รับการสนับสนุนให้สร้างงานขึ้นเป็นส่วนมาก


แม้ในวันนี้ คำว่า ‘สตรีตอาร์ต’ อาจกลายเป็นคำที่คนยุคนี้คุ้นเคย แต่หากมองย้อนกลับไปแล้ว ก็เรียกได้ว่าศิลปะประเภทนี้ได้เดินทางมาไกล จากศิลปะข้างถนนจากเหล่านักก่อกวนในอเมริกาในยุค’ 70s ในทุกวันนี้ สตรีทอาร์ตได้พัฒนากลายเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยมในทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นประเด็นที่ถูกอภิปรายอย่างกว้างขวางเช่นกัน แม้หลายๆ คนจะไม่เห็นด้วยและเห็นว่าศิลปะแนวขบถนี้สร้างความเสียหายให้แก่สถาปัตยกรรมและทำให้สภาพแวดล้อมเป็นพิษ (จากสารเคมีที่ใช้) แต่ในหลายๆ กรณี สตรีตอาร์ตได้กลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการแสดงจุดยืน แนวคิดหรือเจตจำนงค์ รวมถึงถูกใช้เพื่อสร้างพลวัตให้กับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


สตรีตอาร์ตกับพื้นที่การท่องเที่ยว

เมืองสำคัญทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น เบอร์ลิน ปารีส นิวยอร์ก เมลเบิร์น ปีนัง ฯลฯ ได้นำสตรีตอาร์ตมาใช้เพื่อการท่องเที่ยว โดยการจัดเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อชมงานสตรีตอาร์ตที่ปรากฏอยู่ตามผนัง กำแพง และพื้นที่ต่าง ๆ ของเมือง ส่วนในประเทศไทยเองก็เริ่มได้รับอิทธิพลเข้ามาในช่วง พ.ศ. 2549 จากสื่ออินเทอร์เน็ตและนักท่องเที่ยวจากโลกตะวันตก


ในประเทศไทย งานสตรีตอาร์ตถูกนำมาเป็นต้นทุนต่อยอดสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การใช้เป็นเครื่องมือในการปรับภูมิทัศน์ชุมชนต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อพลิกฟื้นจากภาพของความทรุดโทรมสู่ชุมชนที่มีความสวยงาม หรือการใช้ภาพสตรีตอาร์ตเพื่อสร้างแรงดึงดูดด้านการท่องเที่ยว และสื่อสารอัตลักษณ์ของชุมชนในต่างจังหวัด


ปัจจุบัน เรื่องราวที่ถูกสร้างขึ้นโดยสตรีตอาร์ตมากที่สุดในประเทศไทย คือ เรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชุมชน โดยที่สตรีตอาร์ตจะทำหน้าที่ในการสื่อสารคุณค่าทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชุมชนได้อย่างชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายในหมู่นักท่องเที่ยวยุคใหม่ เนื่องจากสื่อภาพมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะจับความสนใจของผู้คนในฐานะประสบการณ์ที่เข้าใกล้ได้ สัมผัสได้ และเข้าถึงได้ง่ายกว่าโบราณวัตถุหรือสถาปัตยกรรมหลายพื้นที่ในประเทศไทยจึงมีการใช้สตรีตอาร์ตเข้าไปเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ เพื่อให้เกิดผลพลอยได้ด้านการท่องเที่ยว


สตรีตอาร์ตในกรุงเทพฯ

เกิดขึ้นจากกิจกรรมที่ชื่อว่า “บุกรุก สตรีทอาร์ต” (BUKRUK Street Art) เทศกาลศิลปะข้างถนน ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แล้ว โดยได้ศิลปินจากทั่วโลกทั้งในเอเชียและยุโรปมาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะลงบนกำแพง ผนังตึก และสถานที่ต่าง ๆ ในละแวกย่านบางรัก - เจริญกรุง, ปากซอยเจริญกรุง 28, ลานจอดรถสำเพ็ง, ตลาดน้อย, ตลาดเฉลิมหล้า - ราชเทวี, Chula Art Town ไปจนถึงเจริญกรุง 30


สตรีตอาร์ตในเชียงใหม่

เชียงใหม่ ถือเป็นจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ทั้งธรรมชาติ วัด ร้านกาแฟ ที่พัก โรงแรม ฯลฯ และยังเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อในเรื่อง “งานศิลปะ” ทั้งแบบล้านนาโบราณ และแบบศิลปะร่วมสมัย สตรีท อาร์ต (Street Art) ในเชียงใหม่เองก็มีอยู่หลายจุด ไม่ว่าจะเป็น ถนนวัวลาย, หลังคุกเก่า, ถนนมูลเมือง ซอย 7, วัดล่ามช้าง, ถนนมูลเมือง ซอย 7 ก, ถนนราชภาคินัย ซอย 1,​ ถนนราชวิถี ซอย 2, วัดดวงดี, ถนนราชมรรคา, ถนนพระปกเกล้าซอย 3, ถนนพระปกเกล้า ซอย 5, ถนนช้างม่อยตัดใหม่, ถนนคชสาร ซอย 4, ประตูท่าแพ (ร้าน CoolMuang Coffee), ถนนสามล้าน ซอย 1 และถนนศรีภูมิ ซอย 6 เป็นต้น


สตรีตอาร์ตในภูเก็ต

ในตัวเมืองภูเก็ตนอกจากจะมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ชิโนโปรตุกีสที่สวยงามมีเสน่ห์แล้ว ยังมีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจอย่างศิลปะแบบกราฟฟิตี้หรือสตรีทอาร์ตแฝงตัวอยู่ตามจุดต่าง ๆ ด้วย โดยได้ศิลปินในภูเก็ตและศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับประเทศมาช่วยสร้างผลงาน สตรีทอาร์ตในภูเก็ตครั้งนี้มีที่มาจากโครงการ FAT หรือ Food Art Town in Phuket ที่ต้องการนำเสนอวัฒนธรรมภูเก็ตผ่านศิลปะร่วมสมัยที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น ผลงานแต่ละชิ้นแฝงตัวอยู่ไม่ไกลจากกัน นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมได้ตั้งแต่ ถนนปฏิพัทธ์ ถนนดีบุก ถนนถลาง ถนนพังงา ถนนกระบี่ ไปจนถึงถนนรัษฎา


สตรีตอาร์ตในสงขลา

เทศบาลนครสงขลา ร่วมกับการท่องเที่ยวและกีฬา จ.สงขลา ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์อาคารเก่าคลาสสิกสไตล์ชิโนโปรตุกีส บริเวณสี่แยกถนนนางงามตัดถนนรามัน เขตเทศบาลนครสงขลา ซึ่งเป็นย่านเมืองเก่าสงขลา สร้างศิลปะแนวสตรีทอาร์ต (Street Art) หรือศิลปะข้างถนนด้วยภาพวาดสีน้ำ ทำให้เมืองมีสีสัน และยังได้สะท้อนเรื่องราววิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนสงขลาด้วย


สตรีตอาร์ตในสุโขทัย

สตรีทอาร์ต สวรรคโลก หรือ Sawankhalok Street Art Walking Street ตั้งอยู่ที่ย่านเมืองเก่าสวรรคโลก อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย บนถนนพิศาลสุนทรกิจ ใกล้ ๆ กับสถานีตำรวจสวรรคโลก โดยได้ 5 ศิลปิน จากสิงคโปร์ กัมพูชา มาเลเซีย และไทย มาสร้างสรรค์ผลงานหลักๆ 6 ชิ้นให้


สตรีตอาร์ตในโคราช

สำนักวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับกราฟฟิตี้เเนวหน้าของประเทศ รวมกว่า 30 คน สร้างผลงานสนับสนุนโครงการ “โคราชเมืองศิลปะ” โดยใช้สีสันของงานกราฟฟิตี้มาช่วยเปลี่ยนกำแพงแห้งแล้งให้กลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ในตัวเมืองโคราช ซึ่งสถานที่ในการเริ่มโครงการนี้อยู่บริเวณประตูผี (ประตูไชยณรงค์) บนกำแพงหน้าออฟฟิศนครชัยขนส่ง และกำแพงบริเวณใกล้เคียง ที่มีพื้นที่กว่า 49 เมตร บางภาพซ่อนอยู่ตามพุ่มไม้ หรือตามซอกมุมต่าง ๆ กลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวอยากค้นหาให้ทั่วว่าภาพต่อไปอยู่ตรงไหนบ้าง


สตรีทอาร์ต ถูกนำมาใช้เป็นสื่อในการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมได้ง่ายกว่าสื่อประเภทอื่น การสื่อสารผ่านภาพทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงและเข้าใจพื้นที่การท่องเที่ยวที่ตนเองไปเยือนได้ง่ายขึ้น ทั้งในแง่วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ความเป็นมา โดยไม่ต้องอาศัยความเข้าใจด้านภาษา หลาย ๆ พื้นที่ หลาย ๆ จังหวัดในประเทศไทยจึงอาศัยศิลปะแขนงนี้เข้ามาช่วยในการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของเมือง เพื่อปรับให้พื้นที่เหล่านั้นกลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว และนับเป็นการชุบชีวิตพื้นที่ที่แห้งแล้ง ทรุดโทรม ให้กลับมามีชีวิตและกลายเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมได้อีกครั้ง


ติดตามเรื่องราวของสถาปัตยกรรมเก่าแก่กับการเปลี่ยนแปลงและชุบชีวิตแบบ “มองเก่า ให้ใหม่” อีกมากมาย ในงานสถาปนิก'64 "มองเก่า ให้ใหม่: Refocus Heritage" จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-27 มิถุนายนนี้ ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

bottom of page