ใครบางคนเคยบอกว่ากรุงเทพฯ กำลังจะกลายเป็นมหานครไร้รอยต่อเทียบเท่ากับลอนดอน นิวยอร์ก และโตเกียว ด้วยว่าการพัฒนาความเป็นเมืองของเรานั้นขยายตัวรวดเร็วมาก จนบางครั้งแม้แต่คนกรุงเทพฯ เองก็แทบไม่รู้ว่าจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของกรุงเทพนั้นอยู่ตรงไหน แต่แน่นอนว่าการเติบโตเป็นมหานครไร้รอยต่อนี้มีอิทธิพลทำให้ผู้คนในเมืองชั้นในค่อยๆ เคลื่อนย้ายออกไปสู่แหล่งอาศัยใหม่ในส่วนต่อขยายของกรุงเทพฯ (ที่ทุกวันนี้ก็เรียกได้เต็มปากว่าเป็นศูนย์กลางความเจริญเช่นกัน) บ้างย้ายไปตามวิถีการทำงาน บ้างก็ขยายธุรกิจไปยังพื้นที่ใหม่ๆ และมีอีกไม่น้อยที่ตัดสินใจย้ายที่อยู่ไปตามแนวรถไฟฟ้า หรือไปยังหมู่บ้านจัดสรรที่เกิดใหม่ใหญ่โตแถบชานเมือง ส่งผลให้ย่านเก่าค่อยๆ เงียบเหงาลง ผู้คนที่ยังหลงเหลืออยู่มักเป็นคนรุ่นเก่าวัยเบบี้บูม (เกษียณแล้ว) หรือคนเจนเอ็กซ์ยุคต้นที่รับสืบทอดกิจการมาจากพ่อแม่เท่านั้น
แต่ปรากฏการณ์หนึ่งที่กำลังเป็นกระแสมาแรงในช่วงห้าปีหลังนี้ คือการที่ชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งตัดสินใจก้าวขาออกจากบ้านในทิศทางที่สวนกระแสกับการขยายตัวของเมือง พวกเขาเลือกจะเดินกลับมาตามหาชีวิตใหม่ในย่านเก่า และปลุกความเงียบเหงาของชุมชนที่มีอายุกว่าสองร้อยปีนี้ให้กลับมีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยเฉพาะกับคนเจนเอ็กซ์ตอนปลาย-เจนวายตอนต้น ที่มักจะมีไอเดียธุรกิจที่พร้อมจะเข้าไปแทรกตัวอยู่ตามย่านเก่า ทั้งในคราบของคาเฟ่สุดฮิป โรงแรมบูติก อาร์ตแกลเลอรี่ เรื่อยไปจนถึง co-working space ที่เปิดตัวขึ้นเป็นฟาร์มเห็ดตามค่านิยมการใช้ชีวิตของคนเจเนอเรชั่นเดียวกัน
นี่คือปรากฎการณ์ที่นักวิชาการผังเมืองเรียกกันว่า ‘City Gentrification’ ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อการเปลี่ยนผ่านภายในย่านหนึ่งๆ ตั้งแต่เรื่องสถาปัตยกรรม กิจกรรม ผู้คน ภูมิทัศน์ของเมือง ฯลฯ เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ย่านเก่าเกิดพลวัติที่หลากหลาย มีความเป็นพหุวัฒนธรรมที่ผสมผสานรสนิยมของกลุ่มคนที่ต่างออกไปไม่เหมือนเดิม
ทุกวันนี้คงยากที่จะบอกว่าในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้ากรุงเทพฯ ของเราจะเปลี่ยนไปอีกแค่ไหน แต่ที่ฟันธงได้แน่ก็คือ ผู้คนที่เคยอาศัยอยู่แถบชานเมืองจะทยอยกลับเข้ามาอยู่ในเมือง (หรือในย่านเก่า) กันมากขึ้น ตามกระแสการพัฒนาเมืองชั้นในที่กำลังดำเนินไปในทิศทางเดียวกันนี้ทั่วโลก กลุ่มประชากรที่นักวิชาการตั้งชื่อให้ว่า ‘Creative Class’ หรือผู้ที่มีความต้องการเฉพาะในการใช้ชีวิตเช่น “ฉันต้องการนั่งร้านกาแฟแบบนี้ระหว่างวัน” “ฉันอยากทำงานในบรรยากาศแบบนี้” “ฉันจะซื้อของในร้านซีเล็กท์ช็อปเท่านั้น” คนเหล่านี้จะเข้ามามีอิทธิพลในการเปลี่ยนกายภาพใหม่ให้กับย่านเก่า และเมื่อวันใดที่ระบบการขนส่งสาธารณะครอบคลุมพื้นที่เมืองเก่าได้มากขึ้น คนกลุ่มนี้ที่แต่ก่อนเคยแวะเวียนมาเที่ยว มาถ่ายรูป มานั่งทำงาน มาจับจ่ายใช้สอย ก็จะพิจารณาเข้ามาตั้งรกรากในย่านเก่ากันแบบถาวร
อย่างไรก็ดี หากเราเปรียบเทียบวิวัฒนาการของเมืองเก่าในกรุงเทพฯ กับประเทศอื่นๆ เราจะสังเกตเห็นความคล้องจองอย่างหนึ่งนั่นก็คือ ศิลปิน และ นักสร้างสรรค์ จะเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่กลับเข้าไปพัฒนาย่านเก่าให้สวยงามแปลกตา และพอย่านไหนเริ่มดูดี ก็จะมีพลังดึงดูดให้คนกลุ่มอื่นๆ หันมาสนใจ ยกตัวอย่างเช่นย่าน South Bank ของลอนดอนที่อดีตเคยเป็นท่าเทียบเรือสกปรกริมแม่น้ำ ปัจจุบันก็ทรานฟอร์มเป็นแหล่งที่พักอาศัยชั้นหรู เป็นศูนย์รวมด้านไลฟ์สไตล์ มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายที่เป็นแม่เหล็กดูดทั้งคนท้องถิ่นและชาวต่างชาติ เช่นพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ Tate Modern ที่รีโนเวทขึ้นจากโรงไฟฟ้าเก่า เรื่อยไปจนถึงชิงช้าสวรรค์ความสูง 135 เมตรอย่าง London Eye ที่ปัจจุบันก็มีคุณค่าในฐานะแลนด์มาร์กอีกแห่งของลอนดอนไปแล้ว
สำหรับในกรุงเทพฯ สิ่งที่สังเกตเห็นแม้จะอยู่ในสเกลที่เล็กกว่ามาก แต่ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ตอบโจทย์คนครีเอทีฟได้ไม่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่นร้านกาแฟและร้านดอกไม้ Oneday Wallflowers ที่วันดีคืนดีก็มาเปิดอยู่กลางซอยนานาในตึกแถวเก่ากรังเล็กๆ ย่านเยาวราช ชั้นล่างเปิดเป็นร้านดอกไม้ ส่วนชั้นบนเป็นคาเฟ่ที่นำดอกไม้จากข้างล่างมาเป็นส่วนประกอบของเมนู ซึ่งจะด้วยเงื่อนไขอะไรไม่รู้ที่ถูกใจวัยรุ่น อาทิความขัดแย้งของคอนเส็พท์กับโลเคชั่น หรือเพราะมีสถานรถไฟใต้ดินที่ทำให้การเดินทางเข้าสู่ย่านเก่าเป็นเรื่องง่าย ณ วันนี้ Oneday Wallflowers ก็ได้กลายเป็นจุดเช็คอินของทั้งนักท่องเที่ยวและคนนอกกรุงฯ ที่ตบเท้าเข้าไปเยี่ยมเยียนกันไม่เว้นแต่ละวัน
คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่าช่วงเวลานี้คือโมงยามอันหอมหวานของวลี ‘กรุงเก่าเล่าเรื่องใหม่’ ซึ่งนอกเหนือจากย่านเยาวราชแล้ว เราก็ยังพบเห็นพลวัติในลักษณะเดียวกันนี้ได้อีกในย่านอื่นๆ ทั่วเกาะรัตนโกสินทร์ ไม่ว่าจะในย่านท่าเตียน ทรงวาด หลานหลวง ปากคลองตลาด ฯลฯ ภาพชีวิตในตรอกซอกซอยที่เคยเงียบเหงาระหว่างวัน วินาทีนี้กลับมีธุรกิจไลฟ์สไตล์หน้าใหม่เปิดบ้านมาทักทายแบบหัวไม่วางหางไม่เว้น ในมุมของเศรษฐกิจแล้ว นี่น่าจะเป็นสัญญาณอันดีสำหรับทุกคนในชุมชน แต่ในมุมของมรดกสถาปัตยกรรม (ที่อาจถูกบิดเบือนไปจากความแท้และดั้งเดิมบ้าง) อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนในชุมชนจะเปิดรับกันได้มากน้อยแค่ไหน แต่ก็อย่างที่หลายคนบอกว่า "มนุษย์ทุกยุคสมัยสามารถสร้างหน้าประวัติศาสตร์ของตนเองขึ้นได้เสมอ" หากเราทำในสิ่งที่สะท้อนถึงคุณค่าของคนยุคเราอย่างแท้จริง สิ่งนั้นก็จะถูกจารึกเป็นมรดกในวันข้างหน้าได้ไม่ต่างกัน
เพื่อสร้างความตระหนักถึงประเด็นนี้ งานสถาปนิก’64 จึงมาพร้อมกับแนวคิด “มองเก่า ให้ใหม่: Refocus Heritage” เพื่อปรับมุมมองของสถาปนิก นักออกแบบ และบุคคลทั่วไปเกี่ยวกับการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรม และมุ่งเชิญชวนให้ผู้ชมเล็งเห็นความสำคัญของมรดกที่อยู่รอบตัว โดยงานสถาปนิก'64 "มองเก่า ให้ใหม่: Refocus Heritage" จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-27 มิถุนายนนี้ ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี