top of page

“ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” สร้างสรรค์ หรือ ทำลาย? งานสถาปนิก’64




กล่าวได้ว่าประเด็นเรื่อง “ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” ยังเป็นประเด็นร้อนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สมัชชาแม่น้ำและเครือข่าย 35 องค์กร ได้จัดแถลงการณ์ “หยุด! ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” เพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าว 


ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องการ ‘รักษา’ และ ‘ทำลาย’ สถาปัตยกรรม สิ่งปลูกสร้าง โบราณสถานและมรดกที่มีคุณค่าต่อชุมชนและสังคมถูกหยิบยกมาอภิปรายกันในโลกโซเชียลอยู่บ่อยครั้ง ทั้งกรณีของป้อมมหากาฬ ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ไปจนถึงการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ ประเด็นร้อนล่าสุดอย่างโครงการการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จะเป็นประเด็นสำคัญที่จะถูกหยิบยกมาตั้งคำถาม ในงานสถาปนิก’64 “มองเก่า ให้ใหม่: Refocus Heritage”

ดร. วสุ โปษยะนันทน์ ประธานการจัดงานสถาปนิก’64 กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “โครงการ การก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา​ ถือเป็นอีกเรื่อง​ที่สำคัญมากที่เราจะต้องมารีโฟกัสกันครับ​ อย่างกระแสที่ออกมาให้ความเห็นคัดค้าน​กันในขณะนี้ อันดับแรกก็คงมาจากการที่ทางกทม. ประกาศเดินหน้าก่อสร้างโครงการนี้ โดยให้เหตุผลว่าไม่มีใครคัดค้านแล้ว​ จึงต้อง​แสดงตัว​กันออกมาว่าไม่จริง  




แต่ทำไมถึงไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างล่ะ​ ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า​ ผมเองจริงๆ แล้วเห็นด้วย อย่างยิ่งกับการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา​ แต่ควรจะมาจากกระบวนการศึกษา​ ประเมิน คุณค่าของพื้นที่ เก็บข้อมูลปัญหา​ การรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง ภาครัฐและเอกชน​ แล้วนำมาใช้ในการออกแบบ​ และวางแผนการจัดการ​ ไม่ใช่ทำอะไร ด้วยความเร่งรัด​ มีแบบที่คิดจะสร้างมวลคอนกรีตขนาดใหญ่รุกล้ำลงไปในแม่น้ำ​เพื่อความรวดเร็ว​ หลีกหนีปัญหาการรุกล้ำแม่น้ำที่มีอยู่เดิมอยู่ตลอดแนวด้วยการรุกล้ำต่อเข้าไปอีก​ ไม่ว่าจะมีการศึกษา​ เก็บข้อมูล​ รับฟังความเห็นใดๆ ท้ายสุดก็ยังจะสร้างในลักษณะเดิม​ กระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็เพียงแค่ไว้บอกได้ว่าทำแล้ว​ ตอนสร้างกำแพงเขื่อนริมแม่น้ำก็เป็นเช่นนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว​ มันต้องมองเก่าให้ใหม่แล้วครับ​ 


สำหรับผม แม่น้ำเจ้าพระยาคือมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญมากของประเทศไทย โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง​ในพื้นที่ของโครงการนี้​ นี่คือหลักฐานของพัฒนาการ​ของการสร้างเมือง​กรุงเทพฯ​ของเราเลยทีเดียว​ นี่คือตัวแทนของวิถีชีวิต​ความเป็นอยู่​ตามแบบของเรา​ ที่มีแม่น้ำเป็นเส้นเลือดทางสัญจรหลัก​ และนี่คือทางสัญจรทางน้ำที่ใช้เรือเป็นพาหนะ​ การเข้าถึงได้ทางจักรยาน​จึงไม่ใช่คำตอบครับ​ ประเด็นสำคัญที่อยากสื่อถึงผู้ชมงานสถาปนิกในครั้งนี้ก็คือ เราสามารถใช้ประโยชน์จากมรดกของเราได้​ ด้วยการออกแบบที่ดี​ คำนึงถึงคุณค่าของมรดกที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับเรา​ ต้องมีความชาญฉลาด​ในการใช้ทรัพยากร​ ไม่ใช่หวังเพียงให้มีการก่อสร้าง​ที่อาจจะต้องมาหาทางทุบทิ้งออกไปในอนาคต​ อย่างไรก็ตามโครงการนี้ก็จะไม่ได้สร้างเชื่อมต่อ​กัน​อย่างครบถ้วนอยู่แล้ว เพราะไม่ได้รับความเห็นชอบให้เข้าไปในพื้นที่ของกรุงรัตนโกสินทร์​ได้​....คิดดูง่ายๆ ก็ได้ครับ​ถ้าโครงการนี้ดี​ ก็คงไม่มีปัญหาในคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์​ซึ่งท่านรองนายกรัฐมนตรี​เป็นประธานเองอยู่แล้ว ”


นิทรรศการวิกฤตมรดกบนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนิทรรศการธีมงานของงานสถาปนิก’64 มุ่งนำเสนอประเด็นร้อนเกี่ยวกับมรดกที่มีการพูดถึงในโลกโซเชียล เพื่อเชิญชวนให้ประชาชน ไปจนถึงผู้ดูแลสมบัติสาธารณะของประเทศมาช่วยกันตั้งคำถาม และมาร่วมค้นหาคำตอบ เกี่ยวกับเรื่องที่สังคมกำลังจับตา นอกจากนิทรรศการนี้แล้ว ในงานสถาปนิก’64 “มองเก่า ให้ใหม่: Refocus Heritage” ยังนำเสนอนิทรรศการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการอนุรักษ์ เพื่อเชิญชวนให้ผู้เข้าชมมามองมรดกที่อยู่รอบตัวเราในแง่มุมใหม่ พร้อมสร้างความตระหนักถึงบทบาทในความเป็นเจ้าของมรดกเหล่านั้นเพื่อให้เกิดความรู้สึกหวงแหนและอยากรักษาสิ่งที่มีคุณค่าเหล่านี้ให้มีอยู่ต่อไป 


งานสถาปนิก'64 "มองเก่า ให้ใหม่: Refocus Heritage" จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-27 มิถุนายนนี้ ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี



bottom of page